เซเว่นฯ เปิดเคล็ดลับเส้นทาง SME สู่ความยั่งยืน
เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “ สร้างเถ้าแก่ SME สู่ความยั่งยืน รุ่นที่ 2 ” จัดโดย สมาคมการค้าปลีกและเอสเอ็มอีทุนไทย ร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ เพื่อเป็นกองทุน SME ด้านองค์ความรู้ ตอกย้ำนโยบาย “เซเว่น อีเลฟเว่น กองหนุน SME”
การสัมมนาในครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ความรู้ที่สำคัญในการยกระดับ SME ในเรื่องมาตรฐานการผลิตสินค้าในตลาด Modern Trade เพราะตระหนักดีว่าเอสเอ็มอี บ้านเราที่มีอยู่เกือบ 3 ล้านรายนั้น เป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศ และ ยิ่งในสภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบ องค์ความรู้ที่ได้จากการสัมมนานี้จึงเป็นอีกแนวทางในการสนับสนุนช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถดำเนินการตามระเบียบหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติของภาครัฐได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้สินค้ามีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล
โดย น.ส.อินทิรา พฤกษ์รัตนนภา ผช.กก.ผจก. บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงานสัมมนาว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และหน่วยงานราชการต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ รวมทั้งให้ความสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น จะเห็นว่ามีกฎหมายใหม่ๆ เกิดขึ้นมาหลายฉบับ ซึ่งเอื้ออำนวยหรือให้ความสะดวกกับองค์กรอิสระ เพื่อที่จะตรวจสอบสินค้า อาหารในท้องตลาดได้
“ดังนั้นอยากที่จะเชิญชวนและขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกท่านได้กลับมาทบทวนและพัฒนามาตรฐานการผลิตเพื่อให้มีคุณภาพดียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตไม่ว่าจะเป็นเรื่องการร้องเรียน หรือลูกค้าทิ้งเราไป โดยที่ไม่ได้บอกกล่าว” น.ส.อินทิรา ระบุ
จากนั้นเป็นการบรรยายเรื่อง “เจาะลึกกฎหมาย GMP และ อย. ฉบับใหม่ (ป.สธ.ฉบับที่ 420)” โดย น.ส.กุสุมาลย์ รุ่งดำรงค์ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ จาก ซีพี ออลล์ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสัมมนา ให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐ
น.ส.กุสุมาลย์ กล่าวว่า GMP (การปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร –Good Manufacturing Practice) เป็นหัวใจในการผลิตอาหารให้ปลอดภัย ขณะที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2563 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร เป็นประกาศฉบับใหม่ ซึ่งได้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หลายฉบับที่เกี่ยวข้อง อาทิ ฉบับที่ 193 และฉบับที่ 342 ฯลฯ มารวมเป็นฉบับใหม่ เพื่อให้มีความกระชับ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยประกาศฉบับใหม่นี้ มี 5 หมวดหลัก คือ 1.สถานที่ตั้งอาคารผลิต การทำความสะอาด และการบำรุงรักษา 2. เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต การทำความสะอาดและการบำรุงรักษา 3.การควบคุมกระบวนการผลิต 4.การสุขาภิบาล และ 5. สุขลักษณะส่วนบุคคล
สำหรับเรื่องของเกณฑ์การผ่านการประเมินนั้น ถ้าจะผลิตอาหารต้องใช้ประกาศนี้ แต่ถ้ายังไม่ตรวจอยากให้ศึกษาเรื่องเกณฑ์กันก่อน คะแนนรวมแต่ละหมวด ทั้ง 5 หมวด จะต้องมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ หรือร้อยละ 60 และจะต้องไม่พบข้อบกพร่องรุนแรง หรือที่เรียกว่าระดับ Major CAR ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องไปศึกษาว่าข้อกำหนดใหน ที่เป็นระดับ Major CAR บ้าง แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะไม่ติด Major ไม่อย่างนั้นจะไม่ผ่านเกณฑ์
แนวประกาศในฉบับนี้ มี 2 ส่วน ส่วนแรกมี 5 หมวด ซึ่งเป็นข้อกำหนดทั่วไป ส่วนที่ 2 เป็นข้อกำหนดเฉพาะ มีอยู่ใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลักๆ ด้วยกัน ที่จะต้องทำให้ผ่านในทุกข้อกำหนดเลย คือในกลุ่มของ 1.น้ำบริโภค น้ำแร่ธรรมชาติ น้ำแข็ง 2.ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภค 3.อาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิด
การบังคับใช้ประกาศสธ. ฉบับที่ 420 นี้ ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ที่ต้องขอ อย.เป็นสถานที่ประกอบอาหาร มีผลตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2564 ส่วนผู้ประกอบการรายเก่า(รายเดิมที่เคยผ่านการตรวจมาแล้ว) จะมีผลบังคับใช้วันที่ 7 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการรายใดจะต่ออายุต้องรีบดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาดตกบกพร่องอยู่ เพราะภาครัฐมีมาตรการบทลงโทษเอาไว้
ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามประกาศ สธ.ฉบับนี้มี โทษตามมาตรา 49 ต้องระวังโทษ และปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ถ้าผิดเป็นครั้งที่ 3 สามารถพักใบอนุญาตกิจการนั้นทันที
ขอบข่ายของการบังคับใช้ของประกาศ ฉบับที่ 420 บังคับใช้ในเรื่องของอาหารที่ผลิตและจำหน่ายในสถานที่ใดๆ เป็นอาหารทุกชนิดที่กินได้ ยกเว้นกลุ่มร้านอาหาร ภัตตาคาร ที่จัดไว้เพื่อปรุงอาหารจนสำเร็จแล้วให้กับผู้บริโภคทันทีคือขายหน้าร้านเลย จะไม่เข้าข่ายกฎหมายฉบับนี้
หมวดที่ 1 เรื่องสถานที่ตั้ง อาคารผลิต การทำความสะอาด และการบำรุงรักษา ข้อนี้ไม่ได้แตกต่างจากเดิมโดยทำเลที่ตั้งต้องอยู่ห่างจากแหล่งสิ่งปฎิกูลต่างๆ และต้องไม่มีสิ่งสะสมที่ไม่ใช้แล้ว ที่ไม่เกี่ยวข้อง
หมวดที่ 2 เรื่องเครื่องมือเครื่องจักรอุปกรณ์ การผลิตและการรักษา เครื่องมือเครื่องจักรต้องออกแบบให้ถูกสุขลักษณะ
หมวดที่ 3 เรื่องของการควบคุมการผลิต ในเรื่องลดการปนเปื้อน ต้องมีการคัดเลือกวัตถุดิบ ส่วนผสม วัตถุเจือปนในอาหาร ที่มีคุณภาพจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ ในหมวดนี้ยังระบุต้องตรวจสอบประเมินตัวเองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ด้วย (IQA) ซึ่งถ้าพนักงานยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องตรวจสอบภายในก็ต้องไปอบรมศึกษาก่อน หากทำให้มีประสิทธิภาพจะสามารถพัฒนาองค์กรได้มาก ดังนั้นจึงต้องเตรียมบุคลากรไว้
หมวดที่ 4 การสุขาภิบาล คือ สภาพแวดล้อมทั่วไปที่อยู่ในโรงงานนั่นเอง อาทิ น้ำที่ใช้ในโรงงานต้องเป็นน้ำสะอาด
และ หมวดที่ 5 เป็นหมวดของสุขลักษณะส่วนบุคคล อันดับแรกต้องมีการตรวจวิเคราะห์โรคประจำปี ต้องตรวจสอบว่ามีโรคอะไรไหม เป็นพาหะนำโรคอะไรหรือเปล่า และตอนนี้อ้างอิงกฎกระทรวงฉบับที่ 1 ปี 2522 รวมถึงถ้าจะให้พนักงานเข้าไลน์การผลิต พนักงานจะต้องไม่มีบาดแผล และต้องไม่เป็นโรค ตามประกาศในฉบับนี้ด้วย
รวมถึงการทำความสะอาดร่างกาย พนักงานที่เข้าไปในไลน์การผลิต ควรมีเล็บสั้น ไม่ทาสีเล็บ เพราะว่าเป็นอาหาร รวมถึงการล้างมือ จะต้องสะอาดทุกครั้งก่อนเริ่มปฎิบัติงาน และภายหลังสัมผัสจากสิ่งที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนได้ หรือกรณีที่ต้องสวมถุงมือ จะต้องอยู่ในสภาพที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ทำด้วยวัสดุที่สัมผัสอาหารได้ และไม่ปนเปื้อน นอกจากนี้ต้องสวมหมวกคลุมผม และสวมผ้าปิดปาก เพราะเป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ หลังจาก 2 วิทยากรบรรยายเสร็จแล้ว ภาคบ่ายเป็นช่วง SME Clinic เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ได้ปรึกษาพูดคุยโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญของ ซีพี ออลล์ ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งผู้ประกอบการต่างสอบถามปัญหาหลายอย่าง อาทิ ขั้นตอนการขอ อย. และการตรวจประเมินสถานที่ผลิต ฯลฯ
ประตูแห่งความรู้ที่เปิดให้ SME มาแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ “เซเว่น อีเลฟเว่น กองหนุน SME” ที่จะเดินหน้าให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ต่อไป.