วงสสส.ชี้! ทาสบุหรี่เสี่ยงติดโควิดฯ 2 เท่า โรคแทรกซ้อน 14 เท่า
หมอประกิต แจงร่วมวง สสส. ชี้! มหันตภัยเสพนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้า ด้านเลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ ระบุ! คนสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงติดโควิดฯ กว่า 2 เท่า เผย! พบผู้ติดโควิดฯเสี่ยงเสียชีวิตเป็นอัมพฤกษ์จากโรคแทรกซ้อนสูงกว่าคนปกติ 14 เท่า
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) และ ภาคีรณรงค์ลด ละ เลิกบุหรี่จัดประชุมโฟกัสกรุ๊ป “สานพลังสื่อมวลชนไทยลดปัจจัยเสี่ยง สร้างวิถีสุขภาวะ เรื่อง”รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า ท้าทายการแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่านระบบออนไลน์” กับ ผู้แทนสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุและสื่อออนไลน์ เมื่อเวลา 9.30 น.วันที่ 28พฤษภาคม 2564
ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ที่ยังคงรุนแรงอยู่ และการสูบบุหรี่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการเสียชีวิต โดยมี ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และ รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญ เลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ ในการควบคุมการบริโภคยาสูบเป็นวิทยากร และได้ นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส อดีตกรรมการ สสส. เป็นผู้ดำเนินรายการ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ (แฟ้มภาพ)
ศ. นพ.ประกิต กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นมหันตภัยสิ่งเสพติดใหม่สำหรับเยาวชนไทยที่แพร่หลายอยู่ในขณะนี้ คือชนิดน้ำที่นำสารนิโคติน สารเสพติดที่สกัดจากใบยาสูบมาผสมกับสารเคมีเพื่อปรุงแต่งกลิ่นรสและสารที่เป็นตัวละลายกลายเป็นน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้านำมาใส่อุปกรณ์ใช้ความร้อนจากแบตเตอรี่ ทำให้น้ำยาระเหยเป็นละอองไอสูบผ่านทางเดินหายใจเข้าสู่ปอด
ส่วนอีกชนิดหนึ่ง เป็นการนำใบยาสูบมาบดเป็นผงผสมกับสารเคมีนำไปอัดเป็นบุหรี่มวนเล็กนำไปเสียบกับอุปกรณ์ที่ใช้ความร้อนจากแบตเตอรี่เกิดเป็นไอสูดเข้าปอด โดยทั้ง บุหรี่ไฟฟ้าชนิดน้ำและใช้ความร้อนมีอันตรายต่อปอดและสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยาวคือการเสพติดนิโคติน
สำหรับ ผลกระทบของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอันดับแรก คือ ต่อตัวผู้สูบบุหรี่อยู่แล้ว หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนพบว่า จะเลิกบุหรี่ธรรมดาได้น้อยกว่าการเลิกสูบบุหรี่ด้วยวิธีการอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วและส่วนใหญ่จะกลายเป็นคนที่สูบทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าในที่สุด ผลต่อคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นเมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ธรรมดาสูงกว่าวัยรุ่นที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า 2-3 เท่า
ส่วนผลของไอระเหยมือสองต่อคนที่ไม่สูบบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดการระคายเคืองของทางเดินหายใจในคนที่เป็นโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้ ซึ่งองค์กรวิชาการระบบทางเดินหายใจระดับนานาชาติ สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและปอดมีความเห็นว่าทั้งตัวผลิตภัณฑ์และการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้าไปที่เยาวชนและบุหรี่ไฟฟ้ามีผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดีอย่างแน่นอน
ด้าน รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ในช่วงที่โควิด19 กำลังระบาดรุนแรงนี้ การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยจากจากเชื้อไวรัสโควิด 19 มากยิ่งขึ้น ภูมิคุ้มกันที่เคยย่ำแย่จะเริ่มฟื้นตัวลดความเสี่ยงในการรับเชื้อไวรัสจากฝอยละอองที่เกิดจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า คนที่ยังสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ กำลังเอาชีวิตของตนเองไปแขวนอยู่บนเส้นด้ายโดยไม่จำเป็น ถ้าไม่ตายจากการติดเชื้อก็อาจพิการจากผลแทรกซ้อนของการติดเชื้อที่เกิดได้กับทุกระบบสำคัญของร่างกาย
จากรายงานวิจัยพบว่า คนที่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด19 มากขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบเลย แต่ที่น่ากังวลคือเมื่อติดเชื้อแล้วจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลแทรกซ้อนที่นำไปสู่ความพิการแบบถาวรหลากหลายรูปแบบแก่ร่างกาย เช่นอัมพฤกษ์ อัมพาต หลอดเลือดสมองอุดตัน ซึ่งพบว่าหลอดเลือดใหญ่ในสมองอุดตันในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่และติดเชื้อโควิด19 มีมากถึง 44 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์จะลงเอยด้วยการเสียชีวิต ส่วน อีก 27 เปอร์เซ็นต์กลายเป็นอัมพาตต้องนอนติดเตียงไปตลอดชีวิต
“นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงการอุดตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลายมือปลายเท้าเกิดภาวะขาดเลือดของปลายมือปลายเท้าเสี่ยงต่อการถูกตัดมือตัดเท้า ไม่เพียงแค่นั้นคนที่สูบบุรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าแล้วติดเชื้อโควิด19 ยังมีโอกาสเป็นปอดบวมชนิดรุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไปถึง2เท่า และหากรอดมาได้ปอดของคนเหล่านี้ก็จะพิการไปตลอดชีวิตปอดทำงานได้น้อยลงจากการที่เนื้อปอดถูกแทนที่ด้วยเยื่อพังผืด ความเสี่ยงเหล่านี้คนที่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสเกิดมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว
ด้าน ตัวแทนสื่อมวลชนได้ร่วมซักถามและแสดงความเห็นที่หลากหลายและเห็นด้วยว่าสื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องควรจะใช้โอกาสการระบาดของโควิด 19 สื่อสารให้เยาวชนและผู้ใหญ่ทั้งผู้สูบและไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าได้ตระหนักและเห็นความเสี่ยงของผู้สูบบุหรี่และคนใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน ก็ควรมีการณรงค์ด้านอื่นๆ เช่น มาตรการองค์กรสร้างแรงจูงใจเพิ่มเงินเดือนค่าตอบแทนหากเลิกบุหรี่ การสร้าสภาพแวดล้อมที่ทำให้เข้าถึงบุหรี่ได้ยาก การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งการสื่อสารให้รู้ว่ามีช่องทางในการให้คำปรึกษาในการลด ละ เลิกบุหรี่ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ให้คำปรึกษาและหากต้องการบำบัดก็มีคลินิกฟ้าใส ร้านยาเภสัชอาสา ซึ่งปัจจุบันกรมควบคุมโรคได้จัดหายาเลิกบุหรี่Varenicline ไว้ให้บริการโดยไม่คิดมูลค่าตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการสำหรับผู้ที่มีโรคเรื้อรังและต้องการเลิกบุหรี่ด้วย.