ซีพีเอฟ ชูพลังงานหมุนเวียน สร้างธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบทั้งโรงงานและฟาร์มปศุสัตว์ ร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วกว่า 575,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2563 พร้อมใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เดินหน้าสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน
นายจารุบุตร เกิดอุดม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ตระหนักดีถึงการมีส่วนร่วมลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จึงมีการวางแผนบริหารจัดการธุรกิจเพื่อรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมรอบด้าน โดยนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วางแผนระบบโลจิสติกส์ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ตลอดจนการทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการ และดำเนินโครงการปลูกป่าพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าชายเลน สนับสนุนเป้าหมายของบริษัทฯลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อมลง 25% ในปี 2568 เทียบกับปีฐาน 2558
การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของซีพีเอฟเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมในรูปแบบต่างๆ อาทิ พลังงานชีวมวล (Bio Mass) พลังงานชีวภาพ (Biogas) พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งแบบติดตั้งบนหลังคาโรงงานและอาคารสำนักงาน (Solar Rooftop) และแบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) โดยในปี 2563 สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 26% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 575,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการเลือกประเภทของพลังงานหมุนเวียนให้เหมาะสมกับธุรกิจและสถานที่ เช่น พลังงานชีวมวล ในโรงงานอาหารสัตว์บกและสัตว์น้ำ นำวัสดุเหลือทิ้ง เช่น เศษไม้ ขี้เลื่อย ซังข้าวโพด เป็นต้น มาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในหม้อไอน้ำ ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ มีการใช้พลังงานชีวมวลทั้งหมด 1.77 ล้านกิกะจูล และตั้งเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินในปี 2565 ส่วนการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์และน้ำเสี ยนำไปบำบัดจนได้ก๊าซชีวภาพ นำไปผลิตกระแสไฟฟ้าและนำกลับไปใช้ในสถานประกอบการ มีการดำเนินการในฟาร์มสุกรทั้งหมดของบริษัทฯ คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ทั้ง 7 แห่ง และโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปหนองจอก ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสุกร (คอนแทรคฟาร์มมิ่ง) 96% ดำเนินการเพื่อลดต้นทุนการผลิต และได้ขยายผลไปใช้กับกิจการในประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ โรงงานอาหารแปรรูปจากเนื้อไก่โคราช นำก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสียไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาในหม้อไอน้ำ (Steam Boiler) โดยในปี 2563 ซีพีเอฟ มีการใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพรวม 1.04 ล้านกิกะจูล
นอกจากนี้ ซีพีเอฟดำเนินโครงการโซล่าร์รูฟท็อปเพื่อติดตั้งแผงโซล่าร์ พีวี (Solar PV) 26 แห่ง ประกอบด้วยโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานอาหารแปรรูป โรงงานอาหารสำเร็จรูปและศูนย์กระจายสินค้า โดยมีกำลังการผลิตทั้งหมดในปี 2563 จำนวน 15 เมกะวัตต์ ขณะที่บริษัทมีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์รวม 0.02 ล้านกิกะจูล
“นอกจากซีพีเอฟมีพันธกิจในการสร้างความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลธรรมชาติ เดินหน้าตามเป้าหมายธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน” นายจารุบุตร กล่าว
นโยบายการใช้พลังงานหมุนเวียนของซีพีเอฟ ยังตอบสนองต่อกระแสความต้องการของคู่ค้าและผู้บริโภค ที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์จากกระบวนการผลิตที่มีส่วนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคธุรกิจต้องปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว
นายจารุบุตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ซีพีเอฟยังให้ความสำคัญในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในด้านอื่นๆ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น นวัตกรรมอาหารสัตว์รักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งอาหารสุกรและอาหารไก่ไข่ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 72,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2563 การวางแผนระบบโลจิสติกส์ จากการคัดเลือกที่ตั้งศูนย์กระจายสินค้าให้อยู่ระหว่างโรงงานผลิตและที่ตั้งของลูกค้าในระยะทางที่เหมาะสมต่อการขนส่ง นำระบบไอทีเข้ามาบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่รถขนส่งสินค้าในแต่ละคันให้ได้มากที่สุด รวมถึง ลดการสูญเสียอาหาร ขยะส่วนเกิน และขยะอาหารตั้งแต่ต้นทางการผลิตครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตอาหาร เป็นต้น
ซีพีเอฟ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน 3 เสาหลัก ประกอบด้วย อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่ ควบคู่ไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) พร้อมเดินหน้านำนวัตกรรมการผลิตและเทคโนโลยีมาใช้ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน