มจธ.สำรวจเส้นทางคลองย่านฝั่งธนบุรี นำร่อง 4 เขต
หวังเชื่อมต่อเส้นทางสัญจรคลองเพื่อการท่องเที่ยว
วิถีชีวิตของคนไทย มีความผูกพันกับคลองมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่อดีต “คลอง” มีบทบาทสำคัญต่อชุมชนริมน้ำอย่างมาก นอกจากอาศัยน้ำในคลองเพื่อการทำเกษตรแล้ว คลองยังเป็นเส้นทางสัญจรหลักในการคมนาคมขนส่งและการติดต่อค้าขายระหว่างกัน กระทั่งเมื่อความเจริญเข้ามาผู้คนหันไปใช้ถนนมากยิ่งขึ้น คลองจึงถูกลดบทบาทลง และเส้นทางน้ำหลายแห่งที่เคยเชื่อมต่อกันเปลี่ยนแปลงไปตามการเติบโตขึ้นของเมือง
ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้จัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนในพื้นที่ริมคลองบางมดประมาณ 5-6 ปี ซึ่งอยู่เขตทุ่งครุในเขตที่ตั้งเดียวกับมหาวิทยาลัย อาทิ โครงการบางมดเฟสติวัล โครงการทางเดินจักรยานเลียบคลอง โครงการคลองสร้างสรรค์ชุมชนสร้างสุข โครงการเปิดบ้านเปิดคลองเปิดวิถีบางมด ซึ่งเป็นจุดริเริ่มของโครงการสำรวจข้อมูลกายภาพพื้นที่ริมน้ำต้นแบบเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อเปรียบเทียบผลกระทบเกาะความร้อนในพื้นที่แนวคลอง ในการศึกษาพื้นที่ริมน้ำ วิถีชีวิตการทำเกษตรของชุมชนริมคลอง เพื่อพัฒนาชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนพื้นที่ริมคลอง เช่น ชุมชนริม “คลองบางมด” ในอดีตส่วนใหญ่ทำเกษตรสวนส้มเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ส้มบางมด” แต่ภายหลังเกิดน้ำท่วม และน้ำเสีย ทำให้สวนส้มบางมดที่รู้จักนี้มีจำนวนลดลงจนแทบไม่เหลือในปัจจุบัน และเพื่อที่จะสามารถช่วยชุมชนให้มีรายได้โดยใช้วิถีชีวิตริมคลองที่เป็นเอกลักษณ์ ทางคณะผู้จัดทำโครงการจึงได้นำเอาแนวคิด เช่น “การท่องเที่ยวทางน้ำตามเส้นทางคลอง” เข้ามาทดลองดำเนินการในพื้นที่ เพื่อทดแทนการทำเกษตรแบบในอดีตที่ปัจจุบันแทบจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกแล้ว
โครงการนี้ศึกษาและสำรวจพื้นที่คลองย่านฝั่งธนบุรี การสำรวจ 4 เขตนำร่อง ประกอบด้วย 1. เขตทุ่งครุที่มีโครงข่ายคลองเชื่อมโยงขนาดใหญ่ที่สามารถเชื่อมไปยัง 2. เขตจอมทอง 3. เขตธนบุรี และ 4. เขตคลองสาน เพื่อศึกษาคุณภาพน้ำคลอง คุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงศักยภาพของชุมชนริมน้ำ โดยข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวและเส้นทางเชื่อมต่อเส้นทางคลองในพื้นที่ฝั่งธนบุรี
ดร.กัญจนีย์ มองว่า พื้นที่ริมน้ำและพื้นที่สีเขียวร่วมกันเป็น Cool Spot ของกรุงเทพฯ ถ้าดูแผนที่จะเห็นว่าใจกลางกรุงเทพฯ นั้น มีพื้นที่สีเขียวน้อยมาก แต่เขตทุ่งครุยังมีพื้นที่สีเขียวที่เป็น Cool Air อยู่มาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลเพื่อพิสูจน์ว่าพื้นที่เขตทุ่งครุสามารถใช้เป็นพื้นที่ฟอกอากาศ หรือ Air Condition ที่จะเป็นประโยชน์กับกรุงเทพฯ ช่วยทำอากาศเย็นให้กับกรุงเทพฯ ได้หรือไม่ โดยการทำงานแบ่งออกเป็น 4 ทีม คือ ทีมสำรวจ ทีมวิเคราะห์ข้อมูลและแผนที่ ทีมประสานงาน และทีมชาวบ้าน เพื่อหาคำตอบใน 3 เรื่อง คือ คุณภาพชีวิตชุมชนริมน้ำ (Quality of Life) คุณภาพน้ำ และคุณภาพอากาศ โครงการนี้ใช้เวลาในการสำรวจ 3 เดือน ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563
นอกจากนี้ ยังได้รับเงินสนับสนุนจากเครือข่ายพันธมิตรอเมริกาจัดซื้อ Weather Station นำไปติดตั้งบริเวณริมคลอง ใน 4 จุดที่กำหนด เพื่อวัดค่าอากาศ อุณหภูมิ (Temperature Control) แรงลม (Wind Load) และค่าฝุ่น PM 2.5 อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนเครื่องมือจากคณะวิทยาศาสตร์ มจธ.ในการวัดคุณภาพน้ำ เพื่อสะท้อนข้อห่วงกังวลของชุมชนในเรื่องความเค็มของน้ำ และน้ำเสีย โดยเครื่องมือวัดประกอบด้วย การวัดค่าความเค็มของน้ำ สภาพนำไฟฟ้าของน้ำ ปริมาณของแข็งละลายน้ำทั้งหมดในน้ำ ค่าที่ตรวจวัดได้นี้ ใช้ประเมินการรุก หรือการหนุนของน้ำทะเลสู่คลอง และการวัดปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ ที่จะบ่งบอกการเน่าเสียของน้ำในคลอง ซึ่งทั้งหมดดำเนินการพร้อมกับการสำรวจคลองอื่นๆ ที่สามารถใช้สัญจรได้ และคลองที่มีเส้นทางเลียบคลอง เพื่อเข้าไปทำกิจกรรมเพื่อทำให้โครงการท่องเที่ยวเกิดขึ้นได้จริง นอกจากนี้ ในอนาคตหากมีรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) ในพื้นที่ทั้ง 4 เขต เชื่อมต่อกันจะช่วยเพิ่มศักยภาพ หรือ ความเป็นไปได้ในการขยายเส้นทางการคมนาคมให้ครอบคลุมมากขึ้นได้
นางสาววิไลวรรณ ประทุมวงศ์ และนางสาวพรทิพย์ ลิมปิชัยโสภณ ทีมวางแผนและประสานงาน สำรวจ วิเคราะห์ข้อมูล และแผนที่ กล่าวว่า หลังจากได้ข้อมูลทางทีม จะนำมาทำการวิเคราะห์ เพื่อจัดทำเป็นแผนที่ของทั้ง 4 เขต แบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก คือ 1. เรื่องการเดินทางและศักยภาพ พบว่า พื้นที่ทั้ง 4 เขตมีศักยภาพสูงมากในการเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกันและเป็นเส้นทางสัญจรหลักในอนาคต ถ้าใช้คลองให้เกิดประโยชน์ เมื่อมีรถไฟฟ้าเข้ามาในพื้นที่ก็จะสามารถเชื่อมต่อได้อย่างดี แต่จากที่ได้สำรวจพบว่าปัจจุบันคลองหลายๆ สายในฝั่งธนบุรี เช่น คลองเขตธนบุรี และเขตคลองสาน เรือไม่สามารถผ่านได้ เนื่องจากลักษณะคลองที่แคบและตื้นเขิน อีกทั้งมีโครงสร้างหลายอย่างกีดขวางเส้นทาง นอกจากนี้คุณภาพน้ำสกปรกและมีกลิ่นเหม็น
จากข้อมูลเบื้องต้นทำให้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาแนวทางเป็นไปได้ที่จะสามารถทำให้การสัญจรเชื่อมต่อกัน เช่น คลองสายใดมีศักยภาพที่สามารถทำเป็นเส้นทางคลองเพื่อการท่องเที่ยวได้ อนาคตอาจจัดเป็นเรือโดยสารสาธารณะ หรือหากคลองสายใดที่เรือไม่สามารถสัญจรได้อาจทำเป็นเส้นทางคนเดินริมคลอง และไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า เป็นต้น
ดร.กัญจนีย์ กล่าวเสริมว่า “หากเขตทุ่งครุ ทำจักรยานเลียบคลองต่ออีก 2 กิโลเมตรได้จริง จะสามารถทำให้ปั่นจักรยานจากฝั่งคลองบางมดไปถึง MRT ใหม่ของเขตได้ ซึ่งในเขตมีทางเลียบคลองอยู่บางส่วนแล้ว ปัจจุบันขาดอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ถ้าเชื่อม 2 กิโลเมตรนี้ได้ ก็จะสามารถปั่นจักรยานหรือขี่มอเตอร์ไซค์ไปขึ้น MRT จากอีกด้านหนึ่งได้ คล้ายการวางแผนผังเส้นทางย่านฝั่งธนฯ ล่วงหน้า”
- เรื่องข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ปัจจุบันพื้นที่ตั้งแต่เขตจอมทองถึงเขตทุ่งครุเกือบทั้งหมด ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องคุณภาพน้ำ สิ่งมีชีวิตในน้ำ ยังไม่ค่อยถูกทำลาย ทรัพยากรส่วนใหญ่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ แต่พื้นที่เขตธนบุรี และคลองสาน สภาพทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างเสื่อมโทรม หลายแห่งเสื่อมโทรมไปแล้ว เช่น คลองบางไส้ไก่ เมื่อก่อนใช้ในการสัญจรแต่ปัจจุบันกลายเป็นเพียงคลองระบายน้ำเสียเท่านั้น เนื่องจากคลองสานเป็นชุมชนที่ค่อนข้างหนาแน่นถึงแออัด และกลายเป็นชุมชนเมืองที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการวางแผนระบบจัดการน้ำเสียของชุมชนยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ขณะที่เขตทุ่งครุมีสภาพผสมผสานกันระหว่างชุมชนกับสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก แต่ในอนาคตหากมีรถไฟฟ้าเข้ามาทำให้การสัญจรคล่องตัวมากขึ้น ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาอาศัยมากขึ้น เมืองขยายตัวมากขึ้น แนวทางการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีดังเดิม และการพัฒนาการท่องเที่ยวท้องถิ่นที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชาวบ้านชุมชนริมคลองได้อย่างไร
นายณัฐชนน ปราบพล หนึ่งในทีมสำรวจ วิเคราะห์ข้อมูล และแผนที่ กล่าวว่า “โครงการนี้ มีประโยชน์มาก หากมีการนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจภายใต้โครงการนี้ไปใช้ประโยชน์หรือขยายผลต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเชื่อมต่อพื้นที่ และการเข้าถึงพื้นที่ เพราะจากที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านริมคลองทั้ง 4 เขต พบว่าการสัญจรในพื้นที่ค่อนข้างลำบาก หากมีการเชื่อมต่อเส้นทางเดิน ประโยชน์ที่ได้จึงไม่ใช่แค่เพียงนักท่องเที่ยวแต่จะเกิดประโยชน์สูงสุดให้กับคนในชุมชนริมคลอง หากทำได้จริงก็ถือว่าบรรลุจุดประสงค์สูงสุดของโครงการนี้”
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ค้นพบจากโครงการนี้ ล่าสุด ได้รับความสนใจจากผู้บริหารเขตทุ่งครุ ผู้นำชุมชน และผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องในพื้นที่ที่ต้องการนำไปขยายผลต่อ โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นแกนนำด้าน Data Center