บพข. เชื่อมงานวิจัยและนวัตกรรมกับตลาด เสริมศักยภาพ SMEs ไทย
ในยุคที่ Covid-19 กำลังส่งผลกระทบและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ไปทั่วโลก แต่ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ยังมีสัญญาณบวกจำนวนมากในเชิงเศรษฐกิจที่ผู้ประกอบการยังมีโอกาสในการพลิกฟื้นธุรกิจให้ดีขึ้นได้ แต่ต้องมีการเตรียมพร้อม ปรับตัว และพัฒนา ให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมรวมถึงความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดธุรกิจของตนเอง
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งมีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เปิดเผยว่า ช่องว่างสำคัญที่ทำให้งานวิจัยไทยไปไม่ถึงภาคอุตสาหกรรม คือ “การพัฒนาเทคโนโลยี” ทุนที่ บพข. สนับสนุนนั้นจึงไม่ใช่ Basic Research แต่จะเป็นงานวิจัยที่ดำเนินการเสร็จแล้ว และอยู่ในกระบวนการที่เรียกว่า “Translational Research” หรือ ภาคอุตสาหกรรมจะเรียกว่าการ “Development” เพื่อพัฒนาจากห้องปฏิบัติการสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่ง บพข. พบว่าปัญหาของผู้ประกอบการและนักวิจัยที่เข้ามารับทุนหรือร่วมงานกับ บพข. คือเรื่อง “การตลาด” ดังนั้น บพข. จึงพยายามเชื่อมต่อกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ซึ่งไปสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ของกระทรวงพาณิชย์พอดี ด้วยเหตุนี้ทาง บพข.จึงได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พร้อมพันธมิตรด้านนวัตกรรมอีก 6 หน่วยงานจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
“การทำ MOU ครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ บพข. มองเห็นภาพและโอกาสในการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศไทย เนื่องจากต่างคนต่างมีความเชี่ยวชาญต่างกัน โดย บพข. เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์มีศักยภาพที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการด้านการตลาด และที่สำคัญคือเราต่างมองเห็นว่า ‘นวัตกรรม’ เป็นสิ่งจำเป็นในการเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นได้ ซึ่งการร่วมมือกันครั้งนี้ผู้ประกอบการที่สนใจจะรับทุนจาก บพข. จะได้รับการปรึกษาด้านการตลาดกับกระทรวงพาณิชย์ โดย บพข. จะเข้ามาหนุนเสริมให้เกิดการประสานงานและพัฒนาเทคโนโลยีจากนักวิจัยที่ตรงกับความต้องการของตลาดได้ เป็นการทำงานในรูปแบบสนับสนุนกันและกัน”
แม้ว่า บพข. จะเป็นหน่วยงานที่เริ่มให้ทุนได้เพียง 1 ปี แต่ปัจจุบันงานวิจัยของ บพข. ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศพอสมควร เช่น ชุดตรวจโควิด SAR-CoV-2 ด้วยวิธี Real-Time RT-PCR (แผนงานสุขภาพและการแพทย์) ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากสารสกัดแซนโทนในเปลือกมังคุดอินทรีย์ (แผนงานเกษตรและอาหาร) แบตเตอรี่แบบอัดประจุซ้ำได้จากขยะแบตเตอรี่ (แผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน) และ หุ่นยนต์ช่วยประเมินดูแล ฟื้นฟู บริการผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (แผนงานระบบคมนาคมแห่งอนาคต อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ) เป็นต้น
รศ.ดร.สิรี กล่าวเสริมว่า บพข. เชื่อมั่นว่างานวิจัยที่หลายคนมักพูดว่า ‘งานวิจัยขึ้นหิ้ง’ นั้น ในความเป็นจริงแล้วงานวิจัยสามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น กระทรวงพาณิชย์ หรือหน่วยงานพันธมิตรภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารรถใช้ประโยชน์จากงานวิจัยหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ยกระดับสินค้าไทยไปสู่สินค้ามูลค่าสูง และก้าวไปสู่เศรษฐกิจการค้ายุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจฐานนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้แข่งขันได้ในระดับสากล