“บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” เสริมความยั่งยืน
8 ภาคี โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ประชุมเตรียมจัดงาน ครบรอบ 10 ปี ชูประเด็นประเทศไทยกับการศึกษาเพื่อความยั่งยืน
มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา โดย รองศาสตราจารย์คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานโครงการบ้านนักวิทยาศาสต์น้อย ประเทศไทย เป็นประธานประชุมเตรียมจัด “งานสัมมนาวิชาการครบรอบ10 ปี บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทยกับการศึกษาเพื่อความยั่งยืน” โดยมีตัวแทนของหน่วยงานภาคีแต่ละเครือข่ายเข้าร่วมประชุม ร่วมระดมความคิดเห็นพร้อมนำเสนอรูปแบบเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดงาน ซึ่งในงานดังกล่าวได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน และเป็นองค์ปาฏกถาพิเศษ ในวันพุธที่ 10 มีนาคม 2564 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สุขุมวิท 23 กรุงเทพฯ
โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ริเริ่มเมื่อปี พ.ศ.2552 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจกรรม Haus der kleinen Forscher (บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย) ณ ประเทศเยอรมนี ซึ่งส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กอนุบาล ต่อมาในปี 2553 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาร่วมกับ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ บี.กริม (B.Grimm) นำรูปแบบบ้านนักวิทยาศาสต์น้อยของประเทศเยอรมนีไปดำเนินการนำร่องในโรงเรียนไทย ด้วยทรงเห็นความสำคัญของการปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสต์และทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องแก่เด็กตั้งแต่ปฐมวัย โดยหัวใจสำคัญของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย คือ ทำอย่างไรให้การเรียนวิทยาศาสต์สนุก เด็กรู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม ช่างสังเกต ในปีแรกมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 221 โรงเรียน ต่อมามีภาคีเข้ามาเพิ่มอีก 3 ภาคี ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ปัจจุบันได้ดำเนินโครงการเข้าสู่ปีที่ 10 และมีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการกว่า 22,245 โรงเรียนทั่วประเทศ ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 235 แห่ง