มจธ. จับมือ หัวเว่ย สร้างบุคลากร AI ป้อนตลาดแรงงานทักษะสูงฯ
การใช้เทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มีบทบาทมากในทุกๆ ด้าน แต่บุคลากรทางด้านนี้ยังขาดแคลนอยู่มาก โดยเฉพาะในประเทศไทย การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา
เพื่อพัฒนาและส่งเสริมทักษะความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เร่งป้อนแรงงานทักษะสูงเข้าตลาดแรงงาน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในโลกยุคดิจิทัล โดยมี รศ. ดร. สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ นายเจสัน เผิง รองประธานบริหาร กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ร่วมลงนามในครั้งนี้
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด เล็งเห็นว่า มจธ. มีศักยภาพในการดำเนินงานด้านเทคโนโลยี ในขณะที่บริษัทฯ มีเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง การลงนามกับ มจธ. ครั้งนี้จึงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในไทยที่ทางบริษัทฯ ได้มีความร่วมมือและเป็นที่แรกที่จะมีการเรียนการสอนทางด้าน AI โดยเฉพาะ ซึ่งในโอกาสนี้ทางบริษัทฯ ได้มอบอุปกรณ์ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (Huawei Cloud Computing Lab Equipment) เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการ Huawei ICT Academy
ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว หัวเว่ย จะทำงานร่วมกับ มจธ. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนด้าน AI ของนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย รวมถึงดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง AI ในเชิงสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรและสร้างรากฐานทักษะและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เตรียมความพร้อมให้นักศึกษาสามารถนำทักษะที่ได้ฝึกฝนผ่านโครงการไปใช้ในการทำงานจริงในอนาคต ตอบสนองความต้องการแรงงานทักษะสูงในตลาดเกิดใหม่ เพื่อเร่งให้เกิดนวัตกรรมและส่งเสริมการใช้ AI อย่างแพร่หลายในประเทศไทย
แนวโน้มการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่บุคลากรทางด้านนี้ยังขาดแคลนอยู่มาก โดยเฉพาะในประเทศไทย เรื่องที่ทำโดยมากจะเกี่ยวกับ Image Recognition ซึ่งในต่างประเทศ AI ถูกพัฒนาไปไกลกว่านั้นมาก บริษัทฯ จึงได้จับมือกับ มจธ. เพื่อมาพัฒนาร่วมกัน เพราะสิ่งที่บริษัทฯ ต้องการ คือ การสร้างบุคลากร สร้างคน สร้าง Eco System ให้มีคนที่มีความสามารถพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาบนอุปกรณ์ของ Huawei ได้ ถือเป็นจุดประสงค์หลักๆ ที่ต้องการสร้างคน สร้างงาน สร้างความรู้ให้กับบุคลากรในประเทศไทย ให้สามารถทำงานด้าน AI ได้ โดยที่ทาง มจธ. จะจัดการเรียนการสอนโดยใช้อุปกรณ์ของทางบริษัทฯ ที่เรียกว่า ‘AI Atlas 200 dk’ นอกเหนือจากเรื่องการเรียนการสอนแล้ว บริษัทฯ ยังสนับสนุนการดูงานด้าน AI ที่ประเทศจีน รวมถึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้ได้เข้าทำงานร่วมกับบริษัทฯ และ Partner ของบริษัทฯ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษานำผลงานที่ผ่านการคัดเลือกไปจัดแสดงบนเว็บไซต์ของ หัวเว่ย หรือ ในงาน HUAWEI CONNECT ซึ่งเป็นงานระดับโลก เช่น งาน Symposium ที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งจะมีผู้สนใจจากทั่วโลกเข้ามาชมผลงาน หากผลงานของนักศึกษาเข้าตากรรมการก็จะได้รับการคัดเลือกเพื่อไปจัดแสดงในงาน ซึ่งประโยชน์ที่นักศึกษาจะได้รับ คือ การสนับสนุนอุปกรณ์ เพื่อนักศึกษามีประสบการณ์ในการใช้งานจริง ช่วยย่นระยะเวลาในการเรียนรู้งานใหม่ สำหรับนักศึกษาที่ลงเรียน ในรายวิชา Routing and Switching หรือ รายวิชา Cloud Computing ทางบริษัทฯ สนับสนุนให้นักศึกษาสอบใบรับรอง HCIA (Huawei Certified ICT Associate) ซึ่งเป็นใบประกาศนียบัตรด้านวิชาชีพแสดงว่ามีความรู้ความสามารถในเทคโนโลยีด้านนี้ สำหรับอุปกรณ์ชนิดที่ได้รับใบรับรอง
ด้าน ผศ. ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มจธ. กล่าวว่า ในเบื้องต้น บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด จะเข้ามาทำงานร่วมกับ มจธ. ใน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ Cloud Computing โดยทางบริษัทฯ ให้ Cloud Server กับ มจธ. ซึ่ง Cloud Computing มจธ. ตั้งใจเอาไปใช้เพื่อการเรียนการสอนในการพัฒนาเรื่องความสามารถและศักยภาพ ในการเข้าใจถึงวิธีการที่จะบริหารจัดการเรื่องระบบ Cloud Computing Server เรื่องที่สอง คือ เทคโนโลยี AI โดย AI ที่บริษัทฯ มอบให้จะเป็น AI ที่ลงไปดูในระบบถึงระดับฮาร์ดแวร์เป็นหลัก
วัตถุประสงค์ ในการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกัน ประเด็นแรกคือ เพื่อที่จะพัฒนานักศึกษาให้มีศักยภาพมีความสามารถ ถือเป็นเป้าหมายหลักของ มจธ. คือนำเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นมาช่วยพัฒนาทำให้นักศึกษาเก่งขึ้น ตามเจตนาที่ มจธ. ต้องการให้นักศึกษาเป็นคนที่เก่งและดี The Best and the Brightest หรือเป็น Social Change Agent ซึ่งนักศึกษาในความหมายของ มจธ. วันนี้คงไม่ใช่แค่นักศึกษาในระบบเพียงเท่านั้น แต่ยังเปิดสอนให้กับคนวัยทำงานที่สามารถจะเข้ามาหาความรู้ได้เช่นกัน
“เป้าหมายของ มจธ. วันนี้ คือ Everywhere is for Learning ในสิ่งที่เราตั้งเป้าหมายไว้ ก็คือ Every time is learning. แล้วก็ Everyone is educator. ซึ่งเริ่มต้นมาเพื่อช่วยให้ มจธ. พัฒนานักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ ซึ่งในส่วนของนักศึกษาระดับชั้นปีที่ 3 หรือ ชั้นปีที่ 4 ที่จะต้องมีความรู้พื้นฐานมาบ้างแล้ว จะเรียนเป็นรายวิชา 1 เทอม และในรายวิชานี้จะไม่ได้จำกัดแค่นักศึกษาอย่างเดียว แต่เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาเรียนเพิ่มเติมทักษะเพื่อการทำงานด้วย
ให้มหาวิทยาลัยเป็น Living Lab
ผศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวเสริมอีกว่า นอกจากที่จะใช้อุปกรณ์นี้เพื่อการเรียนการสอนแล้ว มจธ. หวังว่าจะใช้อุปกรณ์ทั้งหมดเหล่านี้เพื่อสร้างความเข้าใจ สร้างระบบต้นแบบที่สำคัญ คือ การนำเอาองค์ความรู้เหล่านี้และการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาไปสร้างระบบที่จะทดลองใช้ใน มจธ. ได้จริง ทำการวิจัยทดลองใช้ในโครงสร้างพื้นฐานของระบบมหาวิทยาลัยจริง ๆ
“โดยให้มหาวิทยาลัยเป็น Living Lab มหาวิทยาลัยจะเป็นห้องทดลอง เป็นสถานที่ค้นคว้า ทดลอง เพราะฉะนั้นนักศึกษาจะเห็นงานวิจัยที่ไม่ใช่แค่จัดขึ้นในห้องทดลองเท่านั้น แต่นักศึกษาจะเห็นตัวอย่างของงานที่ใช้งานได้จริงประกอบการเรียนรู้ ที่เป็นการเรียนรู้ในแบบที่เรียกว่า Living Lab เป้าหมายสำคัญของมหาวิทยาลัย คือ ต้องการพัฒนาคน ซึ่งเราก็ต้องพยายามหาวิธีการในการขยายผล ต่อยอด และในที่สุดก็กลับมาพัฒนาคน” ผศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว