15 ชาติเอเชียแปซิฟิกเซ็นข้อตกลงการค้า RCEP
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 15 ชาติในเอเชียแปซิฟิกได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในการประชุมของผู้นำกลุ่มประเทศในอาเซียนและประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาคทางออนไลน์ในปีนี้ เนื่องจากยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP เป็นข้อตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะเป็นการขับเคลื่อนให้ภาษีลดลงในหลายพื้นที่ในช่วงไม่กี่ปีที่จะถึงนี้
มีการเสนอให้มีการจัดตั้งข้อตกลงการค้านี้ครั้งแรกในปี 2555 ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกในอาเซียน รวมถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
เมื่อรวมประชากรของทั้ง 15 ชาติเข้าด้วยกันจะคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรของโลก และมีมูลค่าคิดเป็น 29% ของจีดีพีโลก
“หลังจาก 8 ปีในการเจรจาที่คละเคล้าทั้งเลือด เหงื่อและน้ำตา สุดท้ายแล้ว เราก็มาถึงช่วงเวลาที่จะปิดฉากข้อตกลง RCEP นี้ได้ในวันที่ 15 พ.ย.นี้ ” รมว.การค้าของมาเลเซีย โมฮัมเมด อัซมิน อาลี ระบุ
โดยในวันที่ 15 พ.ย. นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง ซึ่งเป็นผู้นำของตัวแทนสิงคโปร์ กล่าวชื่นชมการลงนาม RCEP ว่าเป็น “หลักชัยสำคัญ” และกล่าวแสดงความยินดีกับ 15 ประเทศที่ลงนาม
“ เราได้บรรลุหลักชัยสำคัญในการลงนามข้อตกลงวันนี้ นี่ใช้เวลานานถึง 8 ปี มีการประชุมเจรจาถึง 46 ครั้ง และการประชุมระดับรัฐมนตรีอีก 19 ครั้งกว่าจะมาถึงจุดนี้ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับความพยายามที่ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยของบรรดารัฐมนตรี และการเจรจาจากทุกประเทศที่เข้าร่วม ซึ่งทำงานหนักในช่วงที่ผ่านมา”
“ RCEP เป็นก้าวสำคัญสำหรับโลก ในช่วงเวลาที่พหุภาคีสูญเสียความได้เปรียบ และการเติบโตทั่วโลกกำลังชะลอตัว” นายกฯลีกล่าว
เขาเสริมว่า “เราได้ขจัดความแตกต่างเพื่อให้การเจรจาก้าวหน้า และเราจะต้องทำงานหนักเพื่อโน้มน้าวพลเมืองของเราว่า RCEP จะเป็นประโยชน์กับพวกเขา” นายกฯลีระบุ
“ สิงคโปร์เฝ้ารอที่จะได้ทำงานร่วมกับทุกประเทศที่เข้าร่วมเพื่อปฏิบัติตามข้อตกลงที่ยิ่งใหญ่นี้” ผู้นำสิงคโปร์กล่าว
15 ชาติของ RCEP ตกลงในเงื่อนไขของข้อตกลงเมื่อปีที่แล้ว และเป็นการปูทางให้มีการลงนามในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้
อินเดียถอนตัวจากข้อตกลง เนื่องจากมีความกังวลว่า เงื่อนไขการปลอดภาษีจะเป็นการเปิดตลาดให้สินค้าจากชาติอื่นหลั่งไหลเข้าประเทศอย่างล้นทะลักและทำร้ายผู้ผลิตในประเทศ ขณะที่ประเทศอื่นๆระบุว่า ข้อตกลงนี้ยังคงเปิดกว้างสำหรับอินเดียเสมอ
หลังจากการลงนาม ทุกประเทศจะต้องให้สัตยาบันกับ RCEP ภายในสองปี ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้
การประชุมสุดยอดอาเซียน เป็นการประชุมระหว่างผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน และผู้นำจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ในการประชุมอาเซียน+3 รวมถึงการประชุมเอเชียตะวันออก และ RCEP