ติดเชื้อเกินร้อยในกลุ่มประท้วงกม.แรงงานอินโดฯ

จาการ์ตา – ตำรวจอินโดนีเซียควบคุมตัวผู้ชุมนุมหลายพันคนที่มาประท้วงกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ ท่ามกลางความกังวลว่า การรวมตัวชุมนุมกันของประชาชนจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศให้ทรุดลงไปอีก
จากผู้ประท้วง 3,862 คนที่ถูกจับกุม ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาถึง 145 คน จากรายงานของสำนักข่าว Antara ที่อ้างอิงข้อมูลจากโฆษกตำรวจอาร์โก ยูโวโน
นักศึกษาและแรงงานหยุดเรียน หยุดงานชุมนุมประท้วงทั่วอินโดนีเซียในสัปดาห์นี้เพื่อคัดค้านกฎหมายใหม่ที่ตั้งเป้าในการผ่อนคลายกฎข้อบังคับที่เข้มงวดเพื่อส่งเสริมการลงทุน โดยระบุว่า กฎหมายจะลิดรอนสิทธิแรงงานและทำลายสิ่งแวดล้อม
ประธานาธิบดีโจโค วิโดโดกล่าวปกป้องกฎหมายฉบับนี้ โดยระบุว่าการประท้วงเกิดจากการได้รับข้อมูลมาผิดๆ
โดยเขาระบุว่า ประเทศจำเป็นต้องมีกฎหมายสร้างงานเพื่อการจ้างงานประชากรคนหนุ่มสาว และผู้ว่างงานจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคติดต่ออันตรายโควิด-19
“ผมเห็นการชุมนุมต่อต้านกฎหมายการสร้างงานที่โดยพื้นฐานแล้วถูกขับเคลื่อนโดยการรับข้อมูลผิดๆ”
โดยเขาขอให้บรรดานักวิจารณ์ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของกฎหมาย
อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกยังคงประสบปัญหาในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเสริมว่ามีผู้ติดเชื้อเกิน 4,000 ราย โดยในวันที่ 8 ต.ค.มีผู้ติดเชื้อสูงถึง 4,850 ราย
ตัวเลขทั้งหมดของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าจากสิ้นเดือนก.ค. คือเพิ่มเป็นกว่า 320,000 รายและมีผู้เสียชีวิตถึง 11,677 ราย
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอาจได้แรงหนุนจากความเข้าใจโรคที่ผิดพลาด โดยชาวอินโดนีเซีย 17 คนจาก 100 คนระบุว่า ไม่มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะติดเชื้อไวรัส จากผลการสำรวจเมื่อเดือนก.ย.ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
มีการประท้วงเกิดขึ้นนาน 3 วัน โดยตำรวจปราบจลาจลยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุมในวันที่ 8 ต.ค.เนื่องจากมีการปะทะกันในบริเวณใกล้กับอนุสาวรีย์แห่งชาติ กระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ และทำเนียบประธานาธิบดี
โดยแรงงานนับหมื่นคนจากหลายอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ พลังงาน และยานยนต์ ชุมนุมประท้วงบนถนนหลายสายหลังจากกฎหมายสร้างงานฉบับใหม่ผ่านความเห็นชอบของสภาเมื่อวันที่ 5 ต.ค. เร็วกว่ากำหนดการเดิมถึงสามวัน
ขณะที่รัฐบาลระบุว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงจากโรคระบาด แต่ผู้ประท้วงโต้แย้งว่าเป็นการทำลายสวัสดิการของแรงงานและสิ่งแวดล้อม