‘ดูเตอร์เต’ ให้แพทย์-พยาบาลเดินทางต่างประเทศได้
มะนิลา : เมื่อวันที่ 21 ก.ย. โฆษกของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตแห่งฟิลิปปินส์ประกาศปลดล็อกคำสั่งห้ามบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้เดินทางเพื่อไปทำงานต่างประเทศ เนื่องจากรัฐบาลเชื่อว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศได้แล้ว
สื่อรอยเตอร์รายงานเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า บุคลากรทางการแพทย์หลายพันคน ได้ยื่นอุทธรณ์กับทางรัฐบาลเพื่อขอให้พวกเขาเดินทางออกนอกประเทศได้ โดยบรรดาพยาบาลระบุว่า พวกเธอรู้สึกว่าได้ค่าจ้างต่ำเกินไป ได้รับการปฏิบัติไม่ดี และไม่มีการปกป้องความปลอดภัยให้พวกเธอในฟิลิปปินส์
โดยประธานาธิบดีดูเตอร์เตอนุมัติคำร้องจากกระทรวงแรงงานเพื่อขยายการยกเว้นจากคำสั่งห้ามให้กับผู้ที่มีสัญญาการทำงานในต่างประเทศ และทำเอกสารแล้วเสร็จภายใน 31 ส.ค. แฮร์รี โร้ก โฆษกส่วนตัวของเขาระบุในการแถลงข่าว
จนถึงตอนนี้ ผู้ที่มีสัญญาการทำงานตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. ได้รับอนุญาตให้เดินทางได้ โดยโร้กระบุว่า การตัดสินใจของท่านประธานาธิบดีจะเอื้อประโยชน์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 1,500 คน
“ มีพยาบาลที่ใช้เงินไปเยอะมากกับการดำเนินการเรื่องเอกสารทำงาน กลุ่มนี้มีจำนวนไม่มากนัก เราจึงอนุญาตให้เดินทางได้” โร้กกล่าว
ทั้งนี้ บุคลากรด้านสาธารณสุขจากฟิลิปปินส์อยู่ในกลุ่มแนวหน้าที่รับมือกับผู้ป่วยโรคระบาดโควิด-19 ในโรงพยาบาลของสหรัฐฯ ยุโรป และประเทศตะวันออกกลาง รวมทั้งในประเทศบ้านเกิดเอง
ในเดือนเม.ย. รัฐบาลดูเตอร์เตประกาศห้ามพยาบาล แพทย์ และบุคลากรด้านสาธารณสุขอื่นๆไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ โดยระบุว่า พวกเขาจำเป็นต้องต่อสู้กับวิกฤตไวรัสโคโรนาในฟิลิปปินสื ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดในรอบแรก
ฟิลิปปินส์มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ที่ 286,743 ราย และมีผู้เสียชีวิต 4,984 ราย มากเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย
แต่โร้กยืนยันว่า ไม่มีเหตุผลที่ประชาชนต้องตื่นตระหนก และระบุว่า “ เราควบคุมได้” นอกจากนี้ เขาเสริมว่า “เรารู้จักศัตรูดี และเรารู้ว่าจะสู้กับศัตรูได้ด้วยวิธีการแยกกักตัว การสอบสวนโรคและการรักษา”
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 19 ก.ย. ดูเตอร์เตตัดสินใจคงมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมที่ 1 เมตรไว้เหมือนเดิมสำหรับผู้ที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะเพื่อลดการแพร่ระบาด และปฏิเสธที่จะลดระยะห่างลงเหลือเพียง 30 ซม.อย่างที่มีข้อเสนอมา
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1 เมตรเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัส
แต่ระบบขนส่งสาธารณะในกรุงมะนิลามีชื่อเสียงในด้านความแน่นขนัด ประชาชนเข้าแถวรอคิวยาว และมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย