เมียนมาคุมเข้มเมืองหลวงสกัดโควิด-19
เมียนมามีมาตรการกักตัวและตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างเข้มงวดสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าเมืองหลวงคือกรุงเนปิดอว์ หลังจากมีตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นในวันที่ 3 ก.ย. ขณะที่นางอองซานซูจี ผู้นำเมียนมาเตือนว่าเป็น “หายนะของประเทศ”
ใครก็ตามที่เดินทางเข้ากรุงเนปิดอว์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของทำเนียบรัฐบาล จะถูกกักตัว ตรวจหาเชื้อไวรัส และอนุญาตให้เข้าเมืองได้เฉพาะผู้ที่ไม่ติดเชื้อเท่านั้น จากคำสั่งของรัฐบาลที่เผยแพร่บนเพจเฟซบุ๊ก
โดยประชาชนจากพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากไวรัส จะถูกกักตัวในสถานที่กักตัวอย่างน้อย 7 วัน จากคำสั่งของสภาเนปิดอว์ ขณะที่ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องเดินทางออกจากเมืองให้เร็วขึ้นหากตรวจพบว่าไม่ติดเชื้อ
ทั้งนี้ เมียนมารายงานเคสผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศในช่วงกลางเดือนส.ค. ในรัฐยะไข่ หลังจากนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ทำให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,059 ราย และมีผู้เสียชีวิต 6 ราย จากข้อมูลของรัฐบาล
ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในรัฐยะไข่ ที่ซึ่งกองทัพของรัฐบาลยังมีการต่อสู้กับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ และทางการควบคุมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
โดยการติดเชื้อในช่วงนี้อยู่ในเมืองซิตเว เมืองหลวงของรัฐยะไข่ ทำให้ทางการต้องประกาศให้ประชาชนอยู่บ้านและมีมาตรการเคอร์ฟิว
เมืองซิตเวยังเป็นที่ตั้งของค่ายชาวมุสลิมโรฮิงญาประมาณ 100,000 คนหลังเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2555
ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธไม่ได้สิทธิ์เป็นพลเมืองของเมียนมา และถูกควบคุมไม่ให้มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและการเข้าถึงระบบสาธารณสุข
แต่พบผูู้ติดเชื้อทั่วประเทศ รวมทั้งเมืองใหญ่ที่สุดคือนครย่างกุ้ง ทำให้ทางการประกาศล็อกดาวน์บางพื้นที่ของเมืองย่างกุ้ง สั่งให้ผู้อาศัยในเขตที่มีผู้ติดเชื้อมากต้องอยู่บ้าน รวมทั้งสั่งปิดบาร์และไนท์คลับด้วย
นางซูจีระบุว่า ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐจะถูกลงโทษภายใต้กฎหมายภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 1 ปี
“ จะมีมาตรการคุมเข้มภายใต้กฎหมายภัยพิบัติตามธรรมชาติ นี่เป็นหายนะของประเทศ” เธอระบุในการแถลงทางวีดีโอเมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา
“หากโรคระบาดแพร่เป็นวงกว้างในย่างกุ้ง จะเป็นเรื่องยากที่จะมีการรักษาทางการแพทย์สำหรับประชาชน” เธอระบุ
บรรดาแพทย์ระบุว่า พวกเขากลัวการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในประเทศ เนื่องจากเมียนมามีระบบสาธารณสุขที่ย่ำแย่หลังจากถูกปกครองโดยกองทัพมานานหลายทศวรรษ โดยบริการทางการแพทย์ส่วนใหญ่เป็นการทำงานของอาสาสมัครและกลุ่มองค์กรช่วยเหลือต่างๆ