อินโดฯโกงลด แต่ผู้นำท้องถิ่นไร้ความสามารถ
องค์การต่อต้านและเฝ้าระวังคอร์รัปชั่นของอินโดนีเซีย (ICW) ได้เปิดเผยรายงานคดีทุจริตในหน่วยงานรัฐ ระดับท้องถิ่นในปี 2561 ที่ระบุว่าคดีการทุจริตลดลงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คดีทุจริตจะลดลง แต่นักวิจัยของ ICW ชี้ว่า การไร้ความสามารถของผู้นำระดับท้องถิ่นก่อให้เกิดความกังวลและอธิบายได้ถึงปัญหาการทุจริตโกงกินในระดับล่าง
โดยรายงานระบุถึงคดีในปี 2561 ที่มีคดีการคอร์รัปชั่น 454 คดีและมีผู้ต้องสงสัย 1,087 คน ซึ่งรวมถึงผู้ว่าการ 2 คน และเจ้าหน้าที่รัฐระดับหัวหน้าเขตและนายกเทศมนตรี 35 คน เมื่อเทียบกับ 576 คดีที่มีผู้ต้องสงสัย 1,298 คน รวมทั้งบรรดาผู้นำในท้องถิ่น 29 คนในปี 2560 โดยชวาตะวันออกเป็นจังหวัดที่มีการทุจริตโกงกินมากที่สุด รองลงมาคือชวากลาง
ในปีที่แล้ว คอร์รัปชั่นก่อให้เกิดความเสียหายกับภาครัฐเกือบ 5.6 ล้านล้านรูเปียห์ หรือราว 12,677 ล้านบาท
ลดลง 13.8% จากเดิม 6.5 ล้านล้านรูเปียห์ในปี 2560
“ ประมาณ 89% เป็นคดีที่เกิดขึ้นในระดับเขตและระดับหมู่บ้าน ขณะที่ 11% เป็นคดีในระดับชาติ” Wana Alamsyah นักวิจัยที่ ICW ระบุในระหว่างการนำเสนอรายงานที่สำนักงานล่าสุด
โดยเขาระบุว่า คดีทั้งหมดของปี 2561 อยู่ในชั้นการดำเนินการของอัยการ 52% ในชั้นการสอบสวนของตำรวจ 36% และ 13% อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการปราบปรามคอร์รัปชั่น ( KPK)
คอร์รัปชั่นในอินโดนีเซียเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ และยากในการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานในการกระ
ทำความผิด โดยอินโดนีเซียตกจากอันดับ 20 ในปี 2541 ลงมาอยู่อันดับที่ 37 ในปี 2560 ในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) โดยอินโดฯยังมีอันดับต่ำกว่าติมอร์เลสเต ซึ่งเคยเป็นจังหวัดในอดีตของอินโดฯ และแยกตัวเป็นเอกราช
ICW ระบุว่า ในหลายคดีจะเป็นการโกงเงินงบประมาณในท้องถิ่น การจัดซื้อจัดจ้าง การเข้าไปเกี่ยวข้องกับงบประมาณโครงสร้างพื้นฐาน หรือให้สินบนเพื่อให้ได้การสนับสนุนในการเลื่อนตำแหน่ง
“ ในปี 2562 มีหลายคดีเพิ่มขึ้นในชวาตะวันออกมากกว่าที่อื่น โดย 52 คดีทำให้รัฐสูญเงินงบประมาณ 125,900 ล้านรูเปียห์ รองลงมาคือชวากลางและสุลาเวสี” Wana กล่าว
คดีทุจริตในระดับหมู่บ้าน 104 คดี ทำให้รัฐเสียหาย 1.2 ล้านล้านรูเปียห์ในปีที่แล้ว หลายคดีเกี่ยวข้องกับกอง
ทุนหมู่บ้าน “ การทุจริตเกิดขึ้นเนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและขาดการเฝ้าระวังตรวจสอบ” โดย Wana ยังระบุต่อไปว่า บรรดาผู้นำหมู่บ้าน “ไร้ความสามารถ” ในการบริหารจัดการเงินงบประมาณ
ทั้งนี้ โครงการกองทุนหมู่บ้านเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ที่จัดสรรงบประมาณจำนวน 800 – 1,000 ล้านรูเปียห์ให้แต่ละหมู่บ้าน ซึ่งมีมากถึง 73,670 หมู่บ้านเพื่อกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ