กัมพูชาแบนค้าเนื้อสุนัข
พนมเปญ – เสียมเรียบ (เสียมราฐ) เมืองท่องเที่ยวของกัมพูชาประกาศห้ามการค้าเนื้อสุนัข นับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของบรรดานักเคลื่อนไหวพิทักษ์สัตว์ ซึ่งบรรยายพื้นที่ของเสียมเรียบว่า ถูกปักหมุดเป็นจังหวัดสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลทำให้มีการฆ่าสุนัขนับล้านตัวในแต่ละปี
ทั้งนี้ มีการบริโภคเนื้อสุนัข ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก ในหลายประเทศในเอเชีย รวมทั้งกัมพูชา แม้ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามจะได้รับความนิยมมากกว่าก็ตาม
แต่กลุ่มเคลื่อนไหวพิทักษ์สัตว์ Four Paws ระบุว่า จังหวัดเสียมเรียบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของนครวัด โบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกชื่อก้อง เป็นฮับการค้าเนื้อสุนัขในประเทศ โดยในแต่ละปี มีสุนัขถูกฆ่ามากถึง 3 ล้านตัวเพื่อนำมาเป็นอาหารให้ลูกค้า
ทางการจังหวัดเสียมเรียบประกาศคำสั่งแบนในวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยหน่วยงานเกษตรกรรมในจังหวัดระบุว่า การค้าเนื้อสุนัขลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้
“ ประเด็นนี้ก่อให้เกิดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าและโรคติดต่ออื่นๆ แพร่ระบาดจากพื้นที่หนึ่งไปสู่พื้นที่อื่นๆ ส่งผลกระทบกับระบบสาธารณสุข ” แถลงการณ์ระบุ “ ทั้งการจับ การซื้อ การขาย และการฆ่าสุนัข จะได้รับโทษรุนแรง ”
โดยบทลงโทษสูงสุดจากความเกี่ยวข้องกับการฆ่าสุนัขเพื่อนำมาเป็นอาหารจะถูกจำคุกถึง 5 ปี ขณะที่โทษปรับอยู่ที่ 7 – 50 ล้านเรียล
แต่ผลของกฎหมายฉบับนี้ที่ห้ามการซื้อขายเนื้อสุนัขยังคงต้องรอดูต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมา กัมพูชาไม่เคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 ก.ค. กลุ่ม Four Paws ระงับการตัดสินใจที่จะถอดเสียมเรียบออกจากพื้นที่ปักหมุดของการค้าเนื้อสุนัขในกัมพูชา
“ เราหวังว่าเสียมเรียบจะเป็นต้นแบบที่ดีให้พื้นที่อื่นในประเทศทำตาม” สัตวแพทย์หญิงแคเธอรีน พอแล็คระบุ
จากการสืบสวนของกลุ่มในปีที่แล้วพบว่า จังหวัดทางเหนือของกัมพูชาเป็นประตูการค้าสำคัญ โดยมีการไล่จับสุนัขจรและขายให้กับร้านอาหารกว่า 100 ร้านในเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. พ่อค้าเร่ริมถนนในเมืองหลวงยังคงโฆษณาเนื้อสุนัขอยู่ในเมนูอาหารของเขา โดยราคาบาร์บีคิวจากเนื้อสุนัขอยู่ที่ 2.50 – 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกก.
การท่องเที่ยวของกัมพูชาหยุดชะงักมานานจากการระบาดของโควิด-19 โดยที่ผ่านมา เสียมเรียบเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6 ล้านคนที่มาเยือนกัมพูชาในแต่ละปี โดยเกือบครึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากจีน