อินโดฯขยับเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง
จาการ์ตา – อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงอย่างเป็นทางการ เป็นการเลื่อนสถานะขึ้นจากเดิมคือประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง จากการจัดอันดับล่าสุดด้วยระดับรายได้ของธนาคารโลก
โดยการจัดอันดับอยู่บนพื้นฐานของรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per capita )
อินโดนีเซียมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 4,050 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 สูงเกินเกณฑ์รายได้ที่จัดเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงคือจาก 3,840 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2561
ทั้งนี้ ธนาคารโลกใช้ดัชนีชี้วัดเพื่อตัดสินใจว่าประเทศใดที่อาจใช้บริการของธนาคาร เช่น อัตราเงินกู้
ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงจะมี GNI per capita อยู่ที่ 4,046 -12,535 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างจะมี GNI per capita อยู่ที่ 1,036 – 4,045 ดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยประเทศที่ GNI per capita ต่ำกว่า 1,036 ดอลลาร์สหรัฐฯจะถูกจัดเป็นประเทศรายได้ต่ำ และประเทศที่มี GNI per capita สูงกว่า 12,535 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะถูกจัดเป็นประเทศรายได้สูง
“สถานะที่พัฒนาขึ้นของอินโดนีเซียเป็นหลักฐานว่า มีความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจและยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ” กระทรวงการคลังอินโดนีเซียระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 2 ก.ค. “ นี่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและคู่ค้าในเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย”
อินโดนีเซียมีความก้าวหน้าในการลดความยากจนในช่วงเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขความยากจนลดลงต่ำกว่า 10%
ขณะเดียวกัน จำนวนชนชั้นกลางในประเทศเพิ่มจาก 7% เป็น 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยมีชาวอินโดนีเซีย 52 ล้านคนที่เป็นชนชั้นกลาง จากรายงานของธนาคารโลก
อย่างไรก็ตาม รายงานชี้ว่า 45% ของประชากร หรือประมาณ 115 ล้านคน ยังคงเป็นกลุ่มคนที่ใกล้จะเป็นชนชั้นกลาง คือพ้นจากความยากจน แต่ยังไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
กระทรวงการคลังยังระบุว่า “รัฐบาลจะเดินหน้าขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน พัฒนาความสามารถของอุตสาหกรรม และลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจ ”
โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปีนี้ ทำให้รัฐบาลคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดปีไว้แค่ 1% ภายใต้สถานการณ์พื้นฐาน หรือหากเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 0.4% ขณะที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปีนี้จะอยู่ที่ 0%
ในไตรมาสแรกของปีนี้ จีดีพีของอินโดนีเซียอยู่ที่ 2.97% ต่ำสุดในรอบ 19 ปี เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 กดดันให้ประชาชนต้องอยู่บ้านและส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
จากรายงานของกระทรวงแรงงาน มีชาวอินโดนีเซียที่ถูกเลิกจ้างหรือให้พักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างกว่า 3.06 ล้านคน
โดยรัฐบาลคาดการณ์ว่าจะมีแรงงาน 5.5 ล้านคนที่อาจตกงาน และอีก 4 ล้านคนที่อาจร่วงจากชนชั้นกลางมาใช้ชีวิตต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน
ขณะเดียวกัน ปีเตอร์ อับดุลเลาะห์ ผอ.ฝ่ายวิจัยของ Center of Reform on Economics (Core) ยินดีกับคำประกาศนี้ โดยระบุว่า เป็นการชี้วัดถึงความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาขึ้น
“เราควรตระหนักว่า มีการพัฒนาที่สำคัญในเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าจะเกิดความท้าทายจากการระบาดของไวรัส ซึ่งจะกระทบกับจีดีพี ” ปีเตอร์กล่าวให้สัมภาษณ์
อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่ามีความเสี่ยงที่อินโดนีเซียจะติดกับดักรายได้ปานกลาง“เราควรเตรียมพร้อมอย่างจริงจังสำหรับการปฏิรูปโครงสร้างหลังการระบาดของไวรัสโคโรนาเพื่อเร่งการฟื้นตัวและเลี่ยงไม่ให้ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ”