ช้อปออนไลน์ยังบูมในอาเซียนหลังโรคระบาด

บรรดานักช้อปในอาเซียนยังมีแนวโน้มที่จะซื้อของชำและสินค้าจำเป็นออนไลน์ แม้การระบาดของไวรัสโคโรนาจะชะลอตัวลง จากผลวิจัยของบริษัทที่ปรึกษา Bain & Company และเฟซบุ๊ก
โดยรายงานล่าสุดจากสองบริษัทระบุว่า อีคอมเมิร์ซและเทรนด์ดิจิทัลทั่วภูมิภาคอาเซียนมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 7 ล้านราย
“ เทรนด์เหล่านี้ยังคงอยู่ ” Praneeth Yendamuri หุ้นส่วน Bain & Company ที่มีฐานในสิงคโปร์ระบุเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. “ โดยหนึ่งในแทรนด์เหล่านี้ที่เราพบคือการซื้อสินค้าจำเป็นทางออนไลน์ และก็ยังคงเป็นอยู่อย่างนั้น”
เขาอธิบายว่า สินค้าของชำออนไลน์มียอดขายที่เติบโตเกือบสามเท่าในช่วงการระบาดของไวรัสในอาเซียน และ 1 ใน 3 ของผู้ใช้งานที่ตอบแบบสำรวจระบุว่า พวกเขามีแผนจะซื้อของชำทางอินเทอร์เน็ตอีกในอนาคต อ้างอิงจากรายงาน
มูลค่าการใช้จ่ายซื้อของชำในอาเซียนอยู่ที่ประมาณ 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการซื้อของชำออนไลน์คิดเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าทั้งหมด แต่มีการเติบโตมากขึ้น จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรม
ลาซาด้า ที่มีอาลีบาบาเป็นบริษัทแม่ และมีการดำเนินธุรกิจทั่วภูมิภาค ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ยอดขายของชำออนไลน์ในสิงคโปร์พุ่งทะยานขึ้น 4 เท่าจากต้นเดือนเม.ย. นับตั้งแต่สิงคโปร์มีมาตรการเซอร์กิตเบรคเกอร์ห้ามประชาชนเดินทางเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
เศรษฐกิจดิทัลของอาเซียนมีความสำคัญมหาศาลกับบริษัทจำนวนมาก โดยเฟซบุ๊กเพิ่งลงทุนโดยไม่เปิดเผยจำนวนกับ Gojek บริษัทที่ให้บริการแอปพลิเคชั่นเรียกรถรายใหญ่ของอินโดนีเซีย
ผลวิจัยจากกูเกิล , เทมาเส็ก ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ และ Bain ทำนายว่าภายในปี 2568 เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคอาเซียนจะเติบโตถึง 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีแนวโน้มที่จะขับเคลื่อนโดยอีคอมเมิร์ซ, แอปพลิเคชั่นเรียกรถ และดิจิทัลเพย์เมนท์
มีประชาชนกว่า 600 ล้านคนในภูมิภาคนี้และส่วนใหญ่ได้เข้ามาในโลกออนไลน์แล้ว สมาร์ทโฟนและการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตที่แทรกซึมอยู่ทุกที่ช่วยให้เข้าถึงการซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้พวกเขาเป็นฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีอย่างเฟซบุ๊ก
อีกแนวโน้มที่จะคงอยู่คือการใช้แอปใหม่ๆ เช่น การค้าดิจิทัลและวีดีโอสตรีมมิง จากความเห็นของ Yendamuri
ซึ่งรวมถึงอีเพย์เมนท์และแอปกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่ช่วยให้มีทางเลือกมากขึ้นสำหรับผู้บริโภคที่ยังคงระมัดระวังตัวไม่อยากสัมผัสธนบัตร เนื่องจากหลายประเทศมีมาตรการผ่อนปรนเป็นระยะจากการล็อกดาวน์
แม้จะคลายล็อกและธุรกิจเปิดทำการแล้ว แต่ประชาชนในอาเซียนยังมีแนวโน้มที่จะออกข้างนอกน้อยกว่าชาวอเมริกัน 1.5 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกัน
คาดการณ์ว่า การรักษาทางไกลและบริการดูแลสุขภาพดิจิทัลจะยังคงมีดีมานด์สูง สร้างโอกาสให้บริษัทและนักลงทุนในเทรนด์เหล่านี้ อ้างอิงจากรายงาน
“ผู้บริโภคจำนวนมากเคยใช้บริการเหล่านี้และพบว่าระดับคุณภาพและบริการเท่ากับการตรวจรักษาจริง และการปรึกษาอาการก็เวิร์คสำหรับพวกเขา” Yendamuri ระบุ
รายงานที่มีการเปิดเผยในวันที่ 9 มิ.ย.จาก Bain และเฟซบุ๊ก อยู่บนพื้นฐานข้อมูลการสำรวจของ YouGov ในเดือนเม.ย.ในประเทศใหญ่ๆของอาเซียน คืออินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ประเทศไทยและเวียดนาม โดยยังรวมถึงการสัมภาษณ์ผู้นำธุรกิจและนักลงทุนรายใหญ่ในภูมิภาคด้วย