ฟิลิปปินส์อพยพเกินแสนหนีไต้ฝุ่น
มะนิลา (AFP) – เมื่อวันที่ 15 พ.ค ประชาชนในฟิลิปปินส์กว่าแสนคนเร่งอพยพหนีพายุไต้ฝุ่นไปที่ศูนย์พักพิงฉุกเฉิน ขณะที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมด้วย
โดยอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นหว่องฟงที่ขึ้นฝั่งทำให้เกิดฝนตกหนักบนเกาะซามาร์เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่บนชายฝั่งและมีบ้านที่ไม่แข็งแรง
พายุไต้ฝุ่นส่งผลกับชาวฟิลิปปินส์ที่อยู่บ้านภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ แต่มีประชาชนอย่างน้อย 141,700 รายที่ต้องอพยพหนีพายุ จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบรรเทาภัยพิบัติ
“ เราต้องสวมหน้ากากและเว้นระยะห่างจากกันตลอดเวลา” คาร์ลิโต อาบริซ เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องถิ่นกล่าวกับสื่อ AFP “ เป็นเรื่องยากที่จะทำ เพราะผู้อพยพเครียดมาก แต่เราก็พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุด”
ทางการระบุว่า ศูนย์พักพิงสามารถรับผู้อพยพได้เพียงครึ่งหนึ่งจากศักยภาพที่มี มีการจัดหาหน้ากากให้ประชาชนที่ไม่มี และพยายามจัดให้ครอบครัวอยู่ด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม หลายพื้นที่ซึ่งตามปกติใช้เป็นศูนย์พักพิงจากพายุได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นสถานกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19
“ ความท้าทายสำคัญคือการรักษาระยะห่างทางร่างกาย” จูนี คาสติลโล เจ้าหน้าที่บรรเทาภัยพิบัติระบุ โดยเสริมว่าเขาจัดให้ผู้อพยพเข้าพักที่ห้องเรียนในโรงเรียนที่ปิดอยู่ในช่วงเกิดโรคระบาด
โชคดีที่ภูมิภาคตอนกลางซึ่งพายุขึ้นฝั่งเป็นที่แรกไม่ใช่จุดแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ฟิลิปปินส์มีผู้ติดเชื้อกว่า 11,800 รายและมีผู้เสียชีวิต 790 ราย
ประชาชนหลายสิบล้านคนอาศัยอยู่ในทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุหว่องฟง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะโถมเข้ากระหน่ำพื้นที่กรุงมะนิลา ซึ่งมีคนอาศัยอยู่หนาแน่นในวันที่ 15 พ.ค. หรือเช้าวันที่ 16 พ.ค.
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า พายุอาจอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนขณะเคลื่อนตัวไปทางเหนือของฟิลิปินส์
จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับฟิลิปปินส์ แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบรรเทาภัยพิบัติเพิ่งเริ่มประเมินความเสียหายจากพายุในวันที่ 15 พ.ค. โดยมีการอพยพประชาชนประมาณ 22,000 คนจากภูเขาไฟมายอนที่ยังคุกรุ่นอยู่ออกมาก่อนที่ไต้ฝุ่นจะมาถึง
สถานการณ์ฝนตกหนักในอดีตที่ผ่านมา ทำให้เกิดเหตุดินถล่มลงมาจากภูเขาไฟ และเคลื่อนตัวลงไปที่ชุมชนที่อยู่ข้างล่าง คร่าชีวิตประชาชน พายุไต้ฝุ่นเป็นอันตรายกับชีวิตของชาวฟิลิปปินส์ โดยมีพายุและไต้ฝุ่นเกิดขึ้นเฉลี่ย 20 ลูกในแต่ละปี
จากผลการศึกษาในเดือนก.ค.2562 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่อยู่ในกรุงมะนิลาระบุว่า พายุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งส่งผลกระทบ 1% ต่อเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ขณะที่พายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงกว่าสั่นคลอนเศรษฐกิจเกือบ 3%
หลายพื้นที่ซึ่งไต้ฝุ่นหว่องฟงพัดผ่าน ส่งผลกระทบกับเงินงบประมาณบรรเทาภัยพิบัติ ขณะที่ต้องรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 ด้วย ทำให้ต้องมีการขอความช่วยเหลือเพิ่มจากรัฐบาลกลาง