ฟิลิปปินส์จ่อคลายล็อกดาวน์หลัง 15 พ.ค.
มะนิลา : เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและที่ปรึกษาทางเทคนิคของรัฐบาลระบุว่า มาตรการล็อกดาวน์ที่บังคับใช้ในฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จในการชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ดร.จอห์น หว่อง นักระบาดวิทยาและนักวิเคราะห์ในงานบูรณาการตรวจสอบโรคระบาดระบุว่า ข้อมูลสนับสนุนให้มีการยกเลิกมาตรการกักตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในพื้นที่เมืองหลวงคือกรุงมะนิลา
โดยแฮร์รี โร้ก โฆษกประธานาธิบดีระบุในการแถลงข่าวอีกงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจากโควิด-19 ตอนนี้มีไม่ถึง 300 ราย “ เราสามารถพูดได้ว่า ตัวเลขเริ่มนิ่งแล้ว ” เขากล่าว
เขาระบุว่า อาจมีการผ่อนคลายมาตรการจากหลายปัจจัยที่สอดคล้องกัน ทั้งอัตราความเร็วในการแพร่ระบาด ความสามารถของรัฐบาลในการดูแลผู้ที่ป่วย และเศรษฐกิจ
“ ดังนั้น ตราบเท่าที่เรามีความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเพียงพอ เราไม่สามารถเพิกเฉยในความจริงที่ว่า เราจำเป็นต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ ” โฆษกโร้กกล่าว
ขณะที่ดร.หว่องระบุว่า ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า “ ความเร็วในการแพร่ระบาดชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ”
“ ในช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำงานเพื่อเพิ่มศักยภาพระบบสาธารณสุขของประเทศ ” เขาเสริม
ข้อมูลจนถึงวันที่ 5 พ.ค.ระบุว่า ฟิลิปปินส์มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 9,684 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 637 ราย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ดร.หว่องนำเสนอในระหว่างการแถลงข่าวเสมือนของกระทรวงสาธารณสุขอ้างถึงจำนวนผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. จนถึงปลายเดือนเม.ย.
ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตรวจทดสอบหาผู้ติดเชื้อไวรัสไปแล้ว 123,574 รายจนถึงวันที่ 3 พ.ค. โดยตั้งเป้าให้มีการตรวจได้ 8,000 รายต่อวัน แต่ยังทำได้เพียง 5,500 รายต่อวัน
โรงพยาบาลยังไม่มีการขยายจำนวนเตียงและห้องไอซียูเพื่อรองรับผู้ป่วย ขณะที่มีการใช้เครื่องช่วยหายใจไปเพียง 1 ใน 4 จากที่มีอยู่ในสต็อก
รัฐบาลฟิลิปปินส์ผ่อนปรนมาตรการคุมเข้มในวันที่ 1 พ.ค.ในบางพื้นที่ของเกาะลูซอน ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนน้อย หรือไม่มีเลย แต่บางเมืองยังคงต้องมีมาตรการกักตัวไปจนถึงกลางเดือนพ.ค.เป็นอย่างน้อย
ทั้งนี้ มีการสั่งปิดเกาะลูซอน ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่าเกาหลีใต้ และมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไปตั้งแต่กลางเดือนมี.ค.
มีการสั่งระงับเที่ยวบินในประเทศและการเดินทางทางทะเลทั้งหมด ยกเว้นผู้ที่เดินทางออกไปซื้อสินค้าจำเป็นเพื่อการดำรงชีพ มีการสั่งปิดบริษัท และให้พนักงานทำงานที่บ้าน ยกเว้นแต่ผู้ที่จัดหาอาหารและยา สาธารณูปโภคธนาคาร การสื่อสาร และบริษัทโลจิสติกส์