จ้างงานสิงคโปร์ Q1 ดิ่งสุดตั้งแต่โรคซาร์ส
สิงคโปร์ : จากข้อมูลการประเมินเบื้องต้นที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 เม.ย. จำนวนการจ้างงานในสิงคโปร์ไตรมาสแรกลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโรคซาร์สในปี 2546 เป็นต้นมา
กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ระบุในตัวเลขประจำไตรมาสล่าสุดจากการอัพเดทข้อมูลในตลาดแรงงานว่า การจ้างงานโดยรวม ที่ไม่รวมแรงงานต่างชาติที่ทำงานในประเทศ หดตัวลงถึง 19,900 อัตราในไตรมาสเดือนม.ค. – มี.ค.
โดยในช่วงการระบาดของโรคซาร์ส จำนวนการจ้างงานลดลง 24,000 อัตราในไตรมาส 2 ของปี 2546
ทางกระทรวงแรงงานระบุว่า ตัวเลขไตรมาสแรกสะท้อนถึงผลกระทบเบื้องต้นของโรคระบาดโควิด – 19
โดยอุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง และบริการมีการจ้างงานลดลง ขณะที่ภาคบริการมีการจ้างงานลดลงมากที่สุดจากผลกระทบของโรคระบาด
ในอุตสาหกรรมบริการ บริการอาหารและเครื่องดื่ม การค้าปลีกและโรงแรมได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด
อย่างไรก็ตาม กระทรวงระบุว่า การจ้างงานในประเทศยังคงอยู่ในระดับปานกลาง จากการหดตัวในธูรกิจค้าส่ง ค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม และโรงแรม ขณะที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในด้านการดูแลสุขภาพ การบริหารรัฐกิจ และบริการมืออาชีพ
“อย่างไรก็ตาม แรงงานที่ยังมีงานอาจถูกลดชั่วโมงการทำงาน หรือปรับลดเงินเดือนลง ” กระทรวงรายงาน
แม้อัตราการว่างงานจะสูงขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตโรคซาร์ส รวมถึงช่วงวิกฤตการเงินทั่วโลก จากรายงานของกระทรวง
การว่างงานโดยรวมปรับสูงขึ้นในไตรมาสสิ้นสุดเดือนมี.ค. จาก 2.3% เป็น 2.4% ในส่วนของพลเมืองสิงคโปร์ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 3.3% เป็น 3.5% และในส่วนผู้อาศัย ปรับขึ้นจาก 3.2% เป็น 3.3%
กระทรวงแรงงานคาดการณ์ว่าสภาพตลาดแรงงานจะแย่ลงในไตรมาส 2 จากดีมานด์ทั่วโลกที่ลดลง รวมถึงในสิงคโปร์เอง
Josephine Teo รมว.กระทรวงแรงงานชี้ว่า การหดตัวในไตรมาสแรกส่วนใหญ่เป็นครึ่งหลังของไตรมาส หลังช่วงวันหยุดตรุษจีน ที่มีการคุมเข้มการเดินทาง
เธอระบุในการแถลงกับผู้สื่อข่าวผ่านระบบวีดีโอคอลว่า ในเดือนก.พ. เศรษฐกิจสิงคโปร์เริ่มหดตัวชัดเจน โดยเฉพาะในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมและท่องเที่ยว
เธอยังชี้ว่า ตัวเลขนี้ยังไม่รวมความเคลื่อนไหวในช่วงมาตรการเซอร์กิตเบรคเกอร์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
รมว.แรงงานระบุว่า ขณะที่การจ้างงานในประเทศยังคงทรงตัว แต่หลายบริษัทเริ่มปรับลดค่าใช้จ่ายลง เช่น การลดเงินเดือนพนักงานแทนที่จะเลย์ออฟพนักงาน
ตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. มีประมาณ 3,000 บริษัท ที่มีการจ้างงานพนักงานประมาณ 100,000 คน หรือคิดเป็น 3% ของกำลังแรงงานในประเทศ เริ่มใช้มาตรการลดค่าใช้จ่าย
โดยบริษัทที่มีพนักงานอย่างน้อย 10 คน และมีการปรับลดค่าจ้างลงอย่างชัดเจนคือประมาณ 25% หรือมากกว่านั้นในช่วงมาตรการเซอร์กิตเบรคเกอร์ ต้องแจ้งกระทรวงแรงงาน
“ มีการพูดคุยปรึกษากันอย่างมาก ระหว่างนายจ้างกับพนักงานในประเด็นการลดเงินค่าจ้าง เพื่อให้บริษัทสามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้ ” รมว.ระบุ
แต่เธอระบุว่า มาตรการลดค่าใช้จ่าย เช่น การลดเงินเดือนแทนที่จะเลย์ออฟพนักงาน “ ไม่ได้เป็นเรื่องแย่นัก ” และเป็นความพยายามที่จะคุ้มครองการจ้างงาน
เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีคำแนะนำในเดือนมี.ค. ว่า ขอให้นายจ้างคิดถึงเรื่องการเลย์ออฟพนักงานเป็นทางออกสุดท้าย
“ ทางกระทรวงจะยังคงมองหาหนทางเพื่อสนับสนุนให้มีงานและการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง” เธอเสริม.