ศาลโลกสั่งเมียนมาคุ้มครองชาวโรฮิงญา
เฮก – เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ( ICJ ) หรือศาลโลกที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์มีคำพิพากษาให้เมียนมาต้องคุ้มครองชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งถูกฆ่าและถูกขับไล่ออกไปจากบ้านของพวกเขาในเมียนมา โดยการกระทำเช่นนั้นถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ประเทศแกมเบีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมได้ยื่นฟ้องในเดือนพ.ย.ปีที่แล้วต่อศาลโลกซึ่งเป็นองค์กรของสหประชาชาติในกรณีพิพาทระหว่างแกมเบีย ที่กล่าวหาเมียนมาว่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กับชาวโรฮิงญา
คำตัดสินในวันที่ 23 ม.ค. ถือเป็นมาตรการเบื้องต้นตามคำร้องของแกมเบีย ซึ่งเท่ากับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่มีผลกับรัฐ
ขณะที่คำตัดสินสุดท้ายอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสิ้นสุด องค์คณะผู้พิพากษา 17 ท่านระบุชัดเจนว่าศาลเชื่อว่าชาวโรฮิงญาอยู่ในอันตรายตอนนี้ และต้องมีมาตรการเพื่อคุ้มครองพวกเขาโดยเร่งด่วน
แม้ศาลไม่มีอำนาจในการบังคับใช้ แต่สมาชิกสหประชาชาติสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติที่อยู่บนพื้นฐานของการตัดสินได้
ขาวโรฮิงญายังคงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ประธานผู้พิพากษา Abduqawi Yusuf ระบุ
เมียนมาควร “ใช้ทุกมาตรการที่อยู่ในอำนาจเพื่อคุ้มครองทุกการกระทำ” ภายใต้อนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 2527 โดยศาลระบุว่า เมียนมาต้องรายงานกลับภายในสี่เดือน ศาลมีคำสั่งให้รัฐบาลเมียนมาสั่งการกองทัพและกลุ่มติดอาวุธให้หยุด “การสังหารชาวโรฮิงญา , การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อร่างกายและจิตใจ และการทำร้ายทางร่างกายและจิตใจของชาวโรฮิงญาทั้งหมด หรือบางส่วน”
ทั้งนี้ ชาวโรฮิงญากว่า 730,000 คนต้องอพยพลี้ภัยจากการปราบปรามของทหารเมียนมาในปี 2560 ข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศ และถูกบีบให้ต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่นั่นมาตลอด
การสอบสวนของสหประชาชาติสรุปว่า การปราบปรามอย่างรุนแรงของทางกองทัพเมียนามีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
ไม่นานก่อนมีคำตัดสินของศาล สื่อไฟแนนเชียลไทม์ตีพิมพ์บทความของนางอองซาน ซูจี ผู้นำสูงสุดของเมียนมา ซึ่งเธอระบุว่า อาจมีอาชญากรรมสงครามเกิดขึ้นกับชาวมุสลิมโรฮิงญาบ้าง แต่ผู้ลี้ภัยพวกนี้พูดเกินจริงในเรื่องการละเมิดทำร้ายพวกเขา
ในระหว่างสัปดาห์ของการพิจารณาคดีเมื่อเดือนก่อน นางซูจี ซึ่งเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2534 ได้ขอให้ผู้พิพากษายกคำร้องคดีนี้
“ ศาลมีความเห็นว่าชาวโรฮิงญาในเมียนมายังคงมีความเสี่ยงมาก” ประธานคณะผู้พิพากษา Yusuf ระบุ
“ศาลมีความเห็นว่าเมียนมาควรมีมาตรการในการอำนวยความสะดวกให้ชาวโรฮิงญาที่อยู่ในบังคลาเทศในการเดินทางกลับเมียนมา ส่งเสริมให้มีการประนีประนอมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ให้มีสันติภาพและเสถียรภาพในรัฐยะไข่ และให้กองทัพรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”
กว่า 100 กลุ่มประชาสังคมในเมียนมาตีพิมพ์แถลงการณ์ที่ระบุว่า พวกเขาหวังว่าความยุติธรรมระหว่างประเทศจะทำให้ความจริงเปิดเผย “ เราเข้าใจอย่างชัดเจนว่าคดีของศาลโลกที่มีต่อเมียนมาเป็นการใช้ความรับผิดชอบโดยตรงในการใช้อำนาจทางการเมืองและทางทหาร และไม่ใช่กับประชนชาวเมียนมา”
ขณะที่โฆษกของกองทัพเมียนมาระบุว่า ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับคำตัดสิน
หากนำเสนอหลักฐานว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม บรรดาผู้นำกองทัพก็จะพยายามโน้มน้าวศาล “ สิ่งที่ทางกองทัพทำเป็นแค่สงคราม หากมีบุคคลใดละเมิดกฎหมาย เราจะนำตัวขึ้นศาลทหาร”