มาเลเซียส่งขยะพลาสติกคืนประเทศต้นทาง
กัวลาลัมเปอร์ – มาเลเซียเริ่มกระบวนการทางการทูตที่ยากลำบากด้วยการส่งคืนขยะพลาสติกผิดกฎหมายปริมาณหลายตันกลับไปยังประเทศต้นทางที่ส่งออกขยะพวกนี้มาโดยมีการดำเนินการที่ท่าเรือ 3 แห่งคือคลัง ปีนัง และซาราวัก
“ รัฐบาลมาเลเซียกำลังดำเนินการเพื่อต่อสู้กับการส่งขยะพลาสติกอย่างผิดกฎหมายมาที่มาเลเซีย ด้วยการหยุดความเคลื่อนไหวที่ต้นตอ ซึ่งก็คือท่าเรือ ” โหยวปีหยิน รมว.พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกล่าวในการแถลงข่าวที่ท่าเรือปีนังเมื่อวันที่ 20 ม.ค.
“ โดยรัฐบาลมาเลเซียได้ส่งคืนขยะพลาสติกผิดกฎหมายจำนวน 150 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 3,737 ตัน ” เธอเสริม
ขยะพลาสติกที่ไม่มีใบอนุญาตนำเข้า และไม่เข้าเงื่อนไขการนำเข้าขยะพลาสติกภายใต้อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่นย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด
มาเลเซียดำเนินการส่งคืนขยะในตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว และทางการอธิบายว่าเป็นงานยาก เนื่องจากประเทศที่ส่งออกไม่ยอมรับขยะกลับคืน
โดยทางการระบุว่า มีความยากลำบากในการพิสูจน์ประเทศต้นทางของตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้ เนื่องจากมีการนำมาทิ้งไว้ที่ท่าเรือ แต่หลายประเด็นดูจะคลี่คลาย โดยผู้ส่งออก หรือบริษัทชิปปิ้งตกลงที่จะจ่ายค่าใช้จ่าย
“ รัฐบาลมาเลเซียไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งคืน ผู้ส่งออกและบริษัทชิปปิ้งเป็นผู้จ่าย ” รมว.โหยวกล่าวในการแถลงข่าว
โดย 2 สองประเทศที่เป็นผู้ส่งออกขยะจำนวนนี้มากที่สุดจากจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรทุกขยะ คือ ฝรั่งเศส (43) และอังกฤษ (42) นอกจากนี้ยังมีสหรัฐฯ (17) แคนาดา (11) สเปน (10) ญี่ปุ่น (5) และสิงคโปร์ (4) ส่วนที่เหลือมาจากโปรตุเกส จีน บังคลาเทศ และประเทศอื่นๆ
“ สำหรับมาเลเซีย เราไม่ต้องการจ่าย นี่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องศักดิ์ศรี ประเทศอื่นทิ้งขยะมาที่ประเทศคุณ คุณก็ไม่ควรจ่ายเพื่อจะส่งคืน ไม่ว่าจะยากแค่ไหน เราก็จะส่งกลับ และเราจะทำให้ผู้ส่งออกและบริษัทชิปปิ้งจ่ายค่าใช้จ่ายในการส่งคืน ” รมว.โหยวระบุ
เธอเสริมว่า มีการเข้าตรวจสอบโรงงานรีไซเคิลขยะ 393 แห่งในปีที่แล้ว และมี 218 แห่งที่ถูกปิดเพราะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
หลังจากจีนแบนขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นปี 2561 มาเลเซียกลายเป็นปลายทางของผู้ส่งออกทั่วโลก โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศพัฒนาที่ร่ำรวยกว่า เช่น สหรัฐฯ เยอรมนี อังกฤษและญี่ปุ่น ซึ่งพยายามกำจัดขยะที่มีค่าใช้จ่ายสูงและสร้างปัญหาในการทิ้ง ทำให้มีการทิ้งขยะพลาสติกผิดกฎหมาย ซึ่งบางครั้งมีสารปนเปื้อน ถูกส่งทางเรือปะปนมากับขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้จริงๆ
ทั้งนี้ การนำเข้าขยะของมาเลเซียเพิ่มจำนวนขึ้นจาก 2 หมื่นตันต่อเดือนเมื่อช่วงต้นปี 2560 มาเป็น 1.1 แสนตันต่อเดือนช่วงต้นปี 2561.