‘สี’ เยือนเมียนมา ยืนหยัดร่วมกันในวิกฤตโรฮิงญา
เนปิดอว์ : จีนและเมียนมาตั้งเป้าลงนามในข้อตกลงพื้นฐานหลังการประชุมเมื่อวันที่ 18 ม.ค. ระหว่างประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน และนางอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมาที่เคยเป็นไอคอนด้านสิทธิมนุษยชน โดยเธอให้คำมั่นว่าจะยืนเคียงข้างจีน “จนโลกนี้สิ้นสลาย”
การเยือนเมียนมาเป็นเวลาสองวันของผู้นำจีนเพื่อเป็นการยืนยันถึงเงินทุนของจีนที่จะไหลเข้าเมียนมาตามเดิม แม้ชาติตะวันตกจะล้อมกรอบวิพากษ์วิจารณ์เมียนมาเรื่องวิกฤตโรฮิงญา
ปี 2560 การปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาของทหารเมียนมา ซึ่งทางผู้สอบสวนของสหประชาชาติเรียกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ บีบให้ชาวโรฮิงญากว่า 740,000 คนต้องอพยพลี้ภัยข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศ
ที่ผ่านมา จีนยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งเคียงข้างเมียนมาแม้จะถูกประณามจากนานาชาติก็ตาม
หลังจากเดินทางถึงเมียนมาเมื่อวันที่ 17 ม.ค. ประธานาธิบดีสีเรียกการเยือนครั้งนี้ว่าเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์สำหรับความสัมพันธ์ของสองประเทศ จากรายงานของหนังสือพิมพ์ของเมียนมา
เขายังสัมผัสได้ถึง “ความไม่ยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ซึ่งอาจจะแตกต่างจากสหรัฐฯ ที่คว่ำบาตรนายพลมิน ออง ไลง์ ผบ.กองทัพเมียนมา
นางซูจี ผู้นำสูงสุดเมียนมา ซึ่งชื่อเสียงของเธอมัวหมองในสายตาชาติตะวันตกจากการที่เธอปกป้องการปราบปรามชาวโรฮิงญาของกองทัพ ระบุว่า ประเทศเมียนมาจะยืนหยัดเคียงข้างจีนตลอดไป “ เราจะยืนหยัดร่วมกันจนถึงวันที่โลกสิ้นสลาย” เธอกล่าวในระหว่างพิธีรับรองผู้นำจีนเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา
ปัจจุบัน จีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเมียนมา และมีการทำข้อตกลงขนาดใหญ่ ทั้งท่าเรือน้ำลึก เขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่ง และรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อทั้งประเทศ
นอกจากนี้ ระเบียงเศรษฐกิจจีน – เมียนมา ยังเป็นการปูทางให้โครงสร้างพื้นฐานจากจีนในพื้นที่ทางใต้ซึ่งไม่มีทางออกทะเลมาถึงรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา เป็นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่จีนรอคอยมานาน
มีการทำข้อตกลงมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อวันที่ 18 ม.ค. ในระหว่างการประชุมกับนางซูจีและผู้นำกองทัพ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการการปราบปรามชาวโรฮิงญา
จีนยังคงเป็นพันธมิตรคนสำคัญของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ทำให้มีการวีโต้สวนโหวตที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
แต่มีความไม่เชื่อใจเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง เนื่องจากมองว่าจีนกำลังแสวงหาผลประโยชน์จากเมียนมา ทำให้มีการประท้วงในย่างกุ้ง โดยคาดการณ์ว่าผู้ประท้วงจะชุมนุมเดินขบวนต่อต้านความคิดที่จะรื้อฟื้นโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ๋ในเมียนมาที่จีนเป็นผู้ลงทุน
โดยโครงการสร้างเขื่อนมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ผลิตไฟฟ้าได้ 6 พันเมกะวัตต์ถูกระงับไปในปี 2554 เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั่วประเทศ
เชื่อว่าการชุมนุมประท้วงเป็นการต่อต้านผู้นำจีนเป็นการส่วนตัว เนื่องจากเขาเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงกับรัฐบาลทหารของเมียนมาในขณะที่เขายังดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีของจีนในปี 2552.