อินโดนีเซียเกินดุลการค้าสูงสุดในรอบ 5 ปี
อินโดนีเซียได้ดุลการค้าสูงถึง 3,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นสถิติประจำไตรมาสแรกที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา
ในเดือนมี.ค. อินโดนีเซียมีมูลค่าการเกินดุลการค้า 1,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 6.8% จากตัวเลขในเดือนก.พ.
การส่งออกของอินโดนีเซียในเดือนมี.ค.มีมูลค่า 14,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 15.68% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว
โดยมูลค่าการส่งออกจากเดือนม.ค.ถึงเดือนมี.ค.ในปีนี้มีมูลค่า 40,610 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น 20.84% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว
“ นี่เป็นข่าวดี ” สุฮาริยันโต ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติกล่าวในงานแถลงข่าวในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ว่า “ มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสูงกว่าปริมาณที่ชี้ว่า ราคาเพิ่มขึ้น”
ขณะเดียวกันการนำเข้าในเดือนมี.ค.มีมูลค่า 13,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17.65% เมื่อเทียบกันเดือนต่อเดือน และเพิ่มขึ้น 18.19% เมื่อเทียบกันปีต่อปี
ทั้งนี้ การนำเข้าในไตรมาสแรกอยู่ที่ 36,680 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 14.83% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่า ภาคการผลิตยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดที่ช่วยหนุนตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย
โดยภาคการผลิตมีส่วนถึง 0.92% ของตัวเลขเติบโตทางเศรษฐกิจ 5.2% ของอินโดนีเซียในปีที่แล้ว ภาคส่วนอื่นๆ คือการค้า ด้วยสัดส่วน 0.53% ตามมาด้วยภาคก่อสร้าง 0.51% ภาคสารสนเทศและการสื่อสาร 0.42% และอื่นๆอีก 2.64%
“ ภาคการผลิตเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเรา” รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต กล่าวให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลชี้ว่า ภาคการผลิตก็มีส่วนร่วมหนุนเศรษฐกิจลดลงในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 1.01% ในปี 2557 และ 0.94% ในปี 2558
สัดส่วนเกื้อหนุนของภาคการผลิตที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซที่มีต่อตัวเลขจีดีพีลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 18% ในปี 2554 -2559 เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลข 30% ในช่วงวิกฤตปี 2540 -2541
โดยนายแอร์ลังกาเสริมว่า หากรวมกับค้าส่งและค้าปลีก รวมถึงการซ่อมบำรุงรถจักรยานยนต์และรถยนต์สัดส่วนที่มีต่อจีดีพีอยู่ที่ 31.3%.
หมายเหตุ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 34.49 บาท / 17 เม.ย.2560