กัมพูชาเจอปัญหาทำร้ายร่างกายเรื้อรัง
ผลการศึกษาที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติชี้ให้เห็นว่า อัตราการทำร้ายร่างกายเด็กในกัมพูชายังคงเพิ่มขึ้นและสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เป็นปัญหาใหญ่ที่จะนำไปสู่การกระทำความผิดและการใช้กำลังรุนแรงต่อผู้หญิงเมื่อโตขึ้น และจะทำให้ผู้ปกครองในอนาคตใช้กำลังกับบุตรของตนอีก ก่อเกิดเป็นวัฎจักรการทำร้ายร่างกายที่ไม่มีวันจบ
การศึกษาครั้งนี้สนับสนุนโดยองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา และจะมีการเผยแพร่ผ่านทางเดอะ แลนเซต วารสารการแพทย์ ในเดือน พ.ค. โดยผลการศึกษาพบว่ามากกว่า 4 ใน 5 ของชาวกัมพูชาเคยมีประสบการณ์ถูกทำร้ายเมื่อสมัยเด็ก ซึ่งมีตั้งแต่การทำร้ายทางร่างกาย ทางอารมณ์ และทางเพศ
สำหรับเพศชายส่วนมาก การถูกทำร้ายในวัยเด็กส่วนมากจะเกี่ยวโยงและนำพาไปสู่การทำร้ายคู่สมรสในอนาคต ตั้งแต่ทางกาย ทางอารมณ์ และทางเพศ ซึ่งเต็มไปด้วยความรุนแรงทั้งสิ้น และในเพศหญิงก็เช่นกัน เมื่อแต่งงานแล้วมักจะถูกคู่สมรสทำร้ายร่างกาย เนื่องมาจากปมในอดีตทั้งสิ้น
การศึกษาในครั้งนี้ยังทำให้พบว่า ชายที่ทำร้ายคู่สมรสของตัวเองมักจะทำร้ายร่างกายบุตรของตน ซึ่งทำให้ภรรยาหรือแม่เด็กเองก็จะลงโทษเด็กและข่มขู่ให้กลัวด้วยการทำร้ายร่างกายเช่นกัน โดยครอบครัวชาวกัมพูชามีอัตราการใช้ความรุนแรงแหละทำร้ายร่างกายในครอบครัวสูงถึง 3 ใน 4
ดร.สฐธีรา ชิม กรรมการบริหารองค์กรพัฒนาจิตสังคมข้ามวัฒนธรรมของกัมพูชา เห็นด้วยกับผลของการศึกษาในครั้งนี้ โดยเขายังเสริมอีกว่าวิธีการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ชาวกัมพูชามักจะมีการข่มขู่ให้เด็กกลัวอยู่เสมอ
นอกจากนี้ดร.สฐธีรา ยังเห็นด้วยกับข้อมูลที่ว่า “บ่อยครั้งที่เหยื่อจากการใช้ความรุนแรงของคู่สมรสม มักมีแนวโน้มที่จะนำความเจ็บปวดของตนเองที่ได้เคยได้รับมาไปลงกับผู้อื่น โดยเฉพาะบุตรของตน” สอดคล้องกับความต้องการของเหยื่อคือ “ความยุติธรรม การเอาคืน และต้องการความปลอดภัย” ซึ่งมักจะถูกมองข้ามไป
ดร.สฐธีราตั้งข้อสังเกตว่า ในบริบทสังคมของชาวกัมพูชาผู้คนส่วนมากยังขาดการเข้าใจและความตระหนักเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงที่อาจจะส่งต่อไปยังเด็ก ๆ และชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่าความรุนแรงในครอบครัวมักไม่ได้รับการแก้ไขใด ๆ
นางสาวเค โสวัณณารธ ประธานคณะกรรมาธิการด้านสุขภาพ แรงงาน และกิจการสตรีแห่งชาติกัมพูชา ชี้แจงว่า การศึกษาและการให้ความสนับสนุนในชีวิตความเป็นอยู่ เป็นปัจจัยหลักและเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
โดยส่วนมากผู้ที่ใช้ความรุนแรงมักจะมีข้อแก้ตัวและไม่ได้รับการลงโทษอย่างจริงจังเพราะปัญหาความยากจน ดังนั้นวิถีความเป็นอยู่และความยากจนจึงยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว ซึ่งส่งต่อไปยังเด็ก ๆ ในครอบครัวนั้น ๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การให้คำปรึกษาเพียงอย่างเดียวเหมือนที่เคยมีคนแนะนำนั้นไม่เพียงพอ ในสังคมกัมพูชามีคณะกรรมการและองค์กรระดับชุมชนที่ให้ความช่วยเหลือสตรีเมื่อประสบปัญหาความรุนแรง แต่มักไม่ประสบผลสำเร็จ
แค่การให้คำปรึกษาต่อสตรีเมื่อเธอประสบปัญหานั้นไม่สามารถลดความรุนแรงภายในครอบครัวได้ ดังนั้นหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในกัมพูชาจึงจำเป็นต้องลงลึกไปยังต้นตอและกำจัดปัญหาที่เรื้อรังนี้ให้ได้.