มาเลเซียยังไม่เพิ่มมาตรการทางการเงิน
การเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียจะเป็นแรงหนุนสำคัญให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นและมาตรการทางการเงินจะช่วยควบคุมความผกผันของค่าเงินริงกิตให้เสถียร อ้างอิงจากหนึ่งในเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของประเทศ
ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดการอ่อนค่าของเงินริงกิตและช่องว่างระหว่างราคาในตลาดต่างประเทศและในตลาดภายในประเทศที่ปัจจุบันค่อนข้างมีเสถียรภาพ นายโจฮารี อับดุล กานี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของมาเลเซียกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
ธนาคารกลางมาเลเซียออกโรงเตือนธนาคารต่างประเทศในช่วงปลายปีที่แล้วไม่ให้ใช้มาตรการดูแลธุรกรรมต่างประเทศเดิมพันกับเงินริงกิตและตั้งใจว่าจะจำกัดการเก็งกำไร นักลงทุนบางส่วนหนีไปจากความเข้มงวดและกองทุนทั่วโลกยังดึงเงินทุนมากกว่า 35,000 ล้านริงกิต ( 7,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ออกจากตราสารหนี้มาเลเซียในช่วงเวลา 4 เดือน คือจากปลายปีที่แล้วถึงเดือนก.พ. ซึ่งเป็นวิกฤตเงินทุนไหลออกจากมาเลเซียที่กินเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา
“ มาตรการทางการเงินของเรายังใช้ได้ดี ” นายโจฮารีกล่าวในเมืองเซบุ ประเทศฟิลิปปินส์ในการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน เขากล่าวว่า มีความเข้าใจผิดว่า ภาครัฐกำลังเข้มงวดกับเงินทุนที่ไหลออกและย้ำว่ามาเลเซียยึดมั่นในหลักการที่ให้เงินทุนเคลื่อนไหวอย่างอิสระ เรายึดมั่นในเงื่อนไขที่ว่าจะไม่เข้มงวดมากจนเกินไป หรือควบคุมค่าเงิน
เมื่อถูกถามว่า มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการควบคุมค่าเงินเพิ่มขึ้นหรือไม่ เขากล่าวว่า “ ไม่จำเป็น ไม่จำเป็น ผมคิดว่าเราพอใจแล้วในช่วงเวลานี้ ”
ช่องว่างระหว่างค่าเงินริงกิตในประเทศและมาตรการดูแลธุรกรรม 1 เดือนแคบเข้ามา หลังจากทำสถิติสูงสุดในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว
การส่งออกของมาเลเซียในเดือนก.พ.ขยายตัวเติบโตเร็วที่สุดในรอบ 7 ปี โดยได้แรงหนุนสำคัญจากดีมานด์ในไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เศรษฐกิจของมาเลเซียเติบโต 4.2% ในปีที่แล้ว และธนาคารกลางมาเลเซียคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.3% – 4.8% ในปี 2560 นี้
“ เรากำลังส่งเสริมการส่งออก เราจะบุกเข้าไปในตลาดที่ไม่ใช่ตลาดดั้งเดิมของเรา ถ้าไปได้ดี และจีดีพีของเรายังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เราก็จะเห็นเงินริงกิตแข็งค่าขึ้น”
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของมาเลเซียคือนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัคและนายโจฮารีเป็นผู้ช่วยของเขา โดยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายโจฮารีกล่าวว่า มาเลเซียอยู่ในสถานะที่ดีกับราคาน้ำมันที่อยู่ประมาณ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลและระดับราคาที่สูงกว่านี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นและเอื้อต่อการใช้จ่ายในการพัฒนา โดยมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในเอเชีย.
หมายเหตุ 1 ริงกิต = 8.06 บาท / 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 34.79 บาท / 11 เม.ย. 2560