อินโดฯมีแผนขยายรถไฟใต้ดิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์
จาการ์ตา : อินโดนีเซียกำลังเตรียมจะขยายโครงข่ายรถไฟใต้ดินมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 1.21 ล้านล้านบาท ) เป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงกว่าที่คาดการณ์เพื่อเป็นการหนุนบริษัทก่อสร้างในประเทศ และเป็นการปลุกกระแสให้จีนและญี่ปุ่นเข้ามาประมูลแข่งกันเพื่อชิงสัญญาสัมปทานของโครงการนี้อีกครั้ง
โดยแผนการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโรดแม็ปของ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจมูลค่า 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในปี 2588 ขณะที่รัฐบาลของเขากำหนดว่าจะใช้จ่ายเงินประมาณ 455,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 13.87 ล้านล้านบาท )กับโครงสร้างพื้นฐานภายใน 5 ปีหน้า แต่จนถึงตอนนี้ รัฐบาลก็ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของโครงการ
ทั้งนี้ ทาง MRT จาการ์ตากำลังคัดเลือกสถาบันการเงินเพื่อช่วยในการขยายโครงการ จากข้อมูลของ William Sabandar ประธานบอร์ด MRT
เขาระบุว่า ตามแผนจะมีการขยายเพิ่มอีก 6 เส้นทางเพื่อเชื่อมกับเส้นทางที่มีการเปิดให้บริการบางส่วนไปก่อนหน้านี้ในปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้ระบบรถไฟใต้ดินของอินโดฯ สามารถแข่งขันกับฮ่องกงและสิงคโปร์ได้ในแง่ระยะทาง
การตัดสินใจขยายโครงข่ายรถไฟใต้ดินอาจทำให้บรรดานักวิเคราะห์รู้สึกประหลาดใจบ้างเพราะพวกเขาคาดการณ์กันว่า ทาง MRT จะมุ่งเน้นกับการทำให้เส้นทางเดียวที่มีอยู่นั้นเสร็จสมบูรณ์ก่อน
William ระบุว่า “ เราตั้งเป้าว่าจะสร้างเส้นทางเดินรถให้ได้ถึง 230 กม.ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บท”
“ ตอนนี้เรามีเส้นทางเดินรถแค่ 16 กม. สิ่งสำคัญคือ เราจะทำให้ได้ด้วยวิธีที่เร็วกว่าเดิม เราจะไม่สร้างไปที่ละเส้นทางอีแล้ว”
การปรับปรุงโครงข่ายระบบรางเป็นก้าวต่อไปที่สำคัญในความมุ่งมั่นทะเยอทะยานของประธานาธิบดีวิโดโดที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและประชาชนและแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดในเมืองหลวง หลังจากเขาแสดงท่าทีชัดเจนแข็งกร้าวในการสร้างทางด่วนในสมัยแรก
แต่แผนการของเขา ซึ่งรวมทั้งการก่อสร้างท่าเรือ เขื่อนและโรงไฟฟ้า ก่อให้เกิดแรงกดดันกับระบบธนาคารและงบดุลของรัฐวิสาหกิจ
อินโดนีเซียต้องการความช่วยเหลือและเงินทุนจากต่างประเทศ จากความเห็นของ Yayat Supriatna นักวิเคราะห์คมนาคมจากมหาวิทยาลัย Trisakti
เขาระบุว่า นี่จะเป็นการเปิดประตูให้จีนและญี่ปุ่นเข้ามาแข่งขันกันอีกในอินโดฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่อินโดฯ ต้องตัดสินใจและบริหารจัดการให้ดี
“เราต้องตระหนักว่า อินโดนีเซียไม่มีศักยภาพทางเทคนิค และแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการนี้”
การให้จีนและญี่ปุ่นเข้ามาแข่งขันกัน “ ทำให้เรามั่นใจว่าเราสามารถเลือกข้อเสนอที่ให้ผลประโยชน์มากที่สุดกับเรา”
ทั้งนี้ ญี่ปุ่่นเป็นผู้คว้าสัมปทานรถไฟใต้ดินสายแรกในกรุงจาการ์ตาไปได้ ขณะที่จีนก็ไม่น้อยหน้า คว้าดีลรถไฟความเร็วสูงสายแรกที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงจาการ์ตาและบันดุงได้
“ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank ) และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย ( Asian Infrastructure Investment Bank ) เป็นแหล่งเงินทุนสำคัญในบรรดาผู้ที่ให้ความสนใจในการลงทุน ” William ระบุ โดยเสริมว่า องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ( Japan International Cooperation Agency ) ก็แสดงความสนใจในเส้นทางรถไฟสายใหม่เช่นกัน.