‘ดูเตอร์เต’ ยอมรับสุขภาพไม่ดี

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตแห่งฟิลิปปินส์ยอมรับว่าชีวิตของเขาช่วงนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพค่อนข้างมาก ทำให้ผู้นำวัย 74 ปีผู้นี้ไม่ปรากฎตัวในที่สาธารณะมาสักระยะแล้ว
ประธานาธิบดีดูเตอร์ เตลดเวลาการไปเยือนญี่ปุ่นลงในเดือนต.ค. เพราะเขายังมีอาการเจ็บจาก “ความเจ็บปวดที่ทนทานแทบไม่ได้” ที่บาดแผลบริเวณกระดูกสันหลัง หลังจากเพิ่งประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ และไม่ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าประชาชนในที่สาธารณะมานานกว่า 2 สัปดาห์
มีการเปิดเผยข่าวอุบัติเหตุของเขาหลังจาก 10 วันผ่านไป โดยเขาเปิดเผยเมื่อช่วงต้นเดือนต.ค.ว่า เขาเป็นโรคกล้ามเนิ้ออ่อนแรง MG และโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเองที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ และส่งผลกระทบทำให้หนังตาตกและสายตามองภาพไม่ชัด
“ หากคุณถามผมว่า คุณมีสุขภาพที่ดีไหม ? ก็ไม่ใช่แน่นอน” ดูเตอร์เตระบุในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์กับสื่อ GMA News เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา
“ โรคภัยไข้เจ็บ ผมเป็นเยอะเพราะผมแก่แล้ว ชีวิตผมได้รับผลกระทบจากสุขภาพค่อนข้างมาก” ดูเตอร์เตระบุ
ปัญหาสุขภาพของเขาในปัจจุบันส่งผลให้เกิดการคาดเดามากขึ้นเกี่ยวกับศักยภาพของเขาในฐานะผู้นำประเทศ แม้ซัลวาดอร์ ปาเนโล โฆษกส่วนตัวของเขาเน้นย้ำว่า ไม่มีความจำเป็นต้องชี้แจงเอกสารทางการแพทย์เกี่ยวกับสุขภาพของท่านประธานาธิบดี
โดยดูเตอร์เตเลือกที่จะทำงานจากบ้านเกิดคือเมืองดาเวา ที่ตั้งอยู่บนเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ และโฆษกของเขาระบุว่า ท่านประธานาธิบดีพักผ่อนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในสัปดาห์ก่อน ดูเตอร์เต ซึ่งเป็นผู้นำฟิลิปปินส์อายุมากที่สุดที่ชนะการเลือกตั้ง ได้มอบอำนาจในการลงนามปราบยาเสพติด ( ที่เชื่อกันว่าคร่าชีวิตผู้ต้องสงสัยไปหลายพันคน ) ไปให้กับ รองประธานาธิบดีเลนิ โรเบรโด
ทั้งนี้ ดูเตอร์เตไม่ได้ปรากฎตัวต่อสาธารณะนับตั้งแต่เขาเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศไทยซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ไม่นานหลังจากเขาลดเวลาทริปเยือนญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมในพิธีพระบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น โดยเขาต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงตัว
ก่อนหน้านี้ ดูเตอร์เตเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเป็นไมเกรนและโรคหลอดเลือดอักเสบ ซึ่งเป็นผลจากการสูบบุหรี่
โดยรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ระบุว่า จะมีการถ่ายโอนอำนาจในการบริหารให้กับรองประธานาธิบดี หากผู้นำไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากไร้ความสามารถ ลาออกจากตำแหน่ง หรือถึงแก่อนิจกรรม