ประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงเทพฯ บรรดาผู้นำจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงจีนและประเทศทรงอิทธิพลอื่นๆ ให้คำมั่นที่จะดำรงอยู่เหนือความขัดแย้งด้านนโยบายการค้า และข้อพิพาทด้านดินแดนเพื่อหนุนให้อาเซียนแข็งแกร่งยิ่งขึ้นและเพื่อเสถียรภาพในภูมิภาค
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ระบุว่า กลุ่มประเทศอาเซียนได้บรรลุข้อตกลงพื้นฐานในแผนการที่จะขับเคลื่อนให้อาเซียนเป็นหนึ่งในกลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ( Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) มีเป้าหมายเพื่อทลายกำแพงการค้าระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และอีก 6 ประเทศในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้การค้ามีมูลค่ามากเกือบ 1 ใน 3 ของการค้าทั่วโลก
นายกฯประยุทธ์ และประเทศอื่นๆระบุว่า นอกจากเป้าหมายของ RCEP ที่มีการเลื่อนเป็นครั้งสุดท้ายในปีหน้า อาเซียนยังหวังที่จะกำหนดกรอบปฏิบัติกับจีนในประเด็นข้อพิพาทน่านน้ำในทะเลจีนใต้ด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงของจีนกล่าวกับบรรดาผู้นำประเทศในการประชุมว่า จีนมีข้อผูกพันที่จะพัฒนาในหลายประเด็น เช่น ข้อตกลงและบทบาทการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในภูมิภาค
ในประเด็นที่มีปัญหาอย่างทะเลจีนใต้ นายกฯหลี่เปิดกว้างพร้อมรับการเจรจาเพื่อกำหนดกรอบ และลดท่าทีแข็งกร้าวที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าในบริเวณที่มีข้อพิพาทมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
หลังจากถูกกล่าวหาว่าเลื่อนการเจรจามานานหลายปีขณะที่สร้างเกาะเทียมพร้อมจัดตั้งฐานทัพบนแนวปะการัง จีนตกลงที่จะเริ่มการเจรจาและทั้งสองฝ่ายประกาศว่าการประชุมรอบแรกจากทั้งหมดสามรอบจะมีขึ้นในเดือนก.ค.
ในประเด็นการค้า อาเซียนมีแผนจะเสนอรายงานการเจรจา RCEP โดยร่างข้อตกลงที่ทางสื่อ AFP ได้เห็นระบุว่าจะมีการประชุมในขั้นสุดท้ายเดือนก.พ. และสรุปข้อตกลงทั้งหมดในการประชุมสุดยอดอาเซียนปี 2563 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ในเวียดนาม
“ เรามีข้อผูกพันที่จะลงนามในข้อตกลง RCEP ที่เวียดนามในปี 2563” ร่างแถลงการณ์ของบรรดาผู้นำระบุ
อย่างไรก็ตาม อินเดียแถลงว่าจะไม่เข้าร่วมใน RCEP การตัดสินใจครั้งนี้นับเป็นอุปสรรคครั้งสำคัญของข้อตกลง ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยไม่มีสหรัฐฯ
การเจรจาจบลงในวันที่ 4 พ.ย. กลุ่มประเทศอาเซียนและพันธมิตรรับหลักการของการค้าเสรีในภูมิภาค
“ อีกครั้งที่เราประสบกับการกีดกันทางการค้า เราจำเป็นต้องปกป้องหลักการของการค้าเสรี และนำพาเศรษฐกิจโลกให้เข้าที่เข้าทาง” ประธานาธิบดีมุนแจอินแห่งเกาหลีใต้ระบุในการประชุม