โรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวทำน้ำโขงลด
กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 29 ต.ค. มีการกดปุ่มเปิดทำการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในแม่น้ำโขงในลาว ขณะที่ภาพจากโดรนเผยให้เห็นน้ำแห้งในหลายพื้นที่ของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของโลก
เขื่อนไซยะบุรีที่มีบริษัทของไทยเป็นเจ้าของเคยตกเป็นเป้าของการวิจารณ์ตั้งแต่ก่อนเริ่มก่อสร้างในปี 2555 โดยนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเตือนถึงผลกระทบในวงกว้างกับบรรดาสัตว์น้ำ ตะกอน และระดับน้ำในแม่น้ำโขง
โดยแม่น้ำโขง ซึ่งถือกำเนิดจากที่ราบสูงทิเบต และไหลผ่านจีน เมียนมา ลาว ประเทศไทย กัมพูชาและเวียดนาม เป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตประชากรหลายสิบล้านคน ทั้งอาชีพการประมง และการคมนาคมขนส่ง
แต่การพัฒนาอย่างรวดเร็วส่งผลกับชุมชนตลอดลำน้ำ รวมทั้งนักอนุรักษ์ที่คัดค้านการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันกับสายน้ำที่ให้ชีวิต
ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล และกำหนดสถานะให้ประเทศเป็น “ แบตเตอรีของเอเชีย” มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ดำเนินการอยู่ถึง 44 แห่ง และที่กำลังก่อสร้างอีก 46 แห่ง จากรายงานของหน่วยงานเฝ้าระวังอย่าง International Rivers
CKPower บริษัทย่อยของบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง ช.การช่าง เดินหน้าการก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ มูลค่า 4,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ( 135,798 ล้านบาท ) แม้จะถูกวิจารณ์อย่างหนัก
“ เขื่อนไซยะบุรีพร้อมดำเนินการแล้ว” CKPower ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 29 ต.ค.
ผู้พัฒนาโครงการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทย ระบุว่าเขื่อนไซยะบุรี เป็น “โรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับปลา” และเป็น “พิมพ์เขียวของพลังงานทดแทน”
แต่ภาพจากโดรนเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ถ่ายในจังหวัดหนองคายบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างไป เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดต่ำลงเป็นบริเวณกว้างเพียรพร ดีเทศ จาก International Rivers ระบุว่า ระดับน้ำของแม่น้ำโขงลดลงในบางพื้นที่ตั้งแต่เดือนก.ค. ในช่วงที่เขื่อนไซยะบุรีดำเนินการทดสอบการดำเนินการ
“ พวกเขาผูกขาดอนาคตของระบบนิเวศของแม่น้ำโขง และประชากรตลอดสองฝั่ง ” เธอกล่าวกับสื่อ AFP โดยเสริมว่า เป็นเรื่องยากที่จะประเมินได้อย่างสมบูรณ์เพราะขาดข้อมูล
ทางสื่อ AFP ติดต่อไปยังบริษัทเจ้าของเขื่อนไซยะบุรี แต่บริษัทยังไม่ให้ความเห็นในประเด็นนี้
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะซื้อไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ของเขื่อนไซยะบุรี
เมื่อวันที่ 28 ต.ค.เครือข่ายประชาชนจาก 7 จังหวัดในประเทศไทย ยื่นคำร้องทุกข์ฉุกเฉินกับรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของเขื่อนแม่น้ำโขงหลายแห่ง
ในปีที่แล้ว เกิดอุบัติเหตุสะเทือนขวัญในลาว เมื่อเขื่อนขนาดใหญ่แตกทางตอนใต้ของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน