ช่องว่างทางเพศในเวียดนามลดลง
เวียดนามรายงานความสำเร็จของความเท่าเทียมทางเพศในภาคส่วนการเมืองและเศรษฐกิจตั้งแต่กฎหมายความเท่าเทียมทางเพศมีผลบังคับใช้
โดยจำนวนผู้แทนสตรีในสภาของเวียดนามสูงถึง 27.1% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกคือ 23.4% และค่าเฉลี่ยในเอเชีย 18.6%
ในภาคเศรษฐกิจ จำนวนผู้นำบริษัทที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้นจาก 4% ในปี 2552 เป็น 27.8%
ในปี 2560 นับว่าสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในภาควิทยาศาสตร์ ผู้หญิงเวียดนามก็ประสบความสำเร็จ โดย ดร. Nguyễn Thị Hiệp นักวิทยาศาสตร์หญิงชาวเวียดนาม ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยชีวการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยนานาชาติโฮจิมินห์ ติดอันดับอยู่ใน 100 นักวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นของเอเชียในปี 2562
โดยเวียดนามยังคว้ารางวัล Kovalevskaya Award ได้ในปีนี้ หลังจากนักคณิตศาสตร์หญิงรัสเซียได้รางวัลนักวิทยาศาสตร์หญิงดีเด่นมาทุกปี
กฎหมายความเท่าเทียมทางเพศผ่านความเห็นชอบของสมัชชาแห่งชาติเวียดนามในปี 2549 และมีผลบังคับใช้ในปี 2550
ในรอบ 10 ปี เป็นครั้งแรกที่เวียดนามมีประธานสมัชชาแห่งชาติเป็นผู้หญิง และมีสมาชิกโปลิตบูโรที่เป็นหญิงอีก 3 คน
แม้จะมีผู้หญิงมากขึ้นในภาคการเมืองและเศรษฐกิจ แต่จำนวนผู้หญิงก็ยังไม่บรรลุตามศักยภาพ โดยยังมีการกำหนดวัยสำหรับการเกษียณอายุที่แตกต่าง คือ 60 ปีสำหรับผู้ชาย และ 55 ปีสำหรับผู้หญิง
ขณะที่ Nguyễn Thị Hà รมช.กระทรวงแรงงาน ผู้พิการและกิจการทางสังคมระบุว่า ความรุนแรงต่อสตรีและด็กยังคงเป็นแรงกดดันหลายประเด็นในสังคม
ขณะที่สตรีในชนบทและ ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ยังมีการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างจำกัด คุณภาพงานสำหรับผู้หญิงยังคงต่ำและไม่มั่นคง ด้วยอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่าผู้ชาย
ทั้งนี้ เวียดนามอยู่อันดับ 77 จาก 149 ประเทศในแง่ความเท่าเทียมทางเพศใน Global Gender Gap Report ปี 2561 ของ World Economic Forum
โดยรายงานมีมาตรวัดประเทศต่างๆใน 4 ประเภท คือ การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและโอกาส การได้รับการศึกษา สุขภาพและการรอดชีพ และพลังทางการเมือง
ใน 4 ประเภทนี้ เวียดนามได้คะแนนสูงสุดในด้านการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและโอกาส ด้วยคะแนน 0.74 เป็นอันดับที่ 33 ของโลก