เมียนมาส่งออกเสื้อผ้าโตตามเป้า
องค์กรอุตสาหกรรมระบุว่า ภาคการผลิตเสื้อผ้าของเมียนมาเติบโตได้ตามเป้า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 307,100 ล้านบาท ) ในแผนการส่งออก 10 ปี
โดยเป้าหมายการส่งออกและการสร้างโอกาสงาน 1 ล้านอัตราในภาคการผลิตเสื้อผ้าถูกกำหนดขึ้นภายใต้แผนยุทธศาสตร์ปี 2557 – 2567 ของสมาคมผู้ประกอบการเสื้อผ้าของเมียนมา
“ปริมาณการส่งออกในปีงบประมาณ 2561 – 2562 จนถึงเดือนส.ค.สูงถึง 4,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มื่อเทียบกับตัวเลข 3,200 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวเติบโตของการส่งออกถึง 1,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ” U Khing Maung Lwin รมช.กระทรวงพาณิชย์เมียนมาระบุ
การส่งออกเสื้อผ้าของเมียนมาเติบโตขึ้นในแต่ละปี โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2556 ที่สหภาพยุโรปให้สิทธิพิเศษทางศุลกากรกับเมียนมา โดยเมียนมาสามารถส่งออกทุกอย่างยกเว้นอาวุธไปตลาดอียูได้โดยไม่ต้องเสียภาษี
โดยตัวเลขการส่งออกเติบโตแบบก้าวกระโดดจาก 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีงบประมาณ 2558 – 2559 มาเป็นกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณนี้
“จำนวนโรงงานที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว ทำให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เรายังจะเห็นการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ ดังนั้น ตัวเลขส่งออกน่าจะเติบโตได้อีกในปีหน้า ซึ่งจะทำให้เราสามารถบรรลุได้ตามเป้าที่ตั้งไว้คือ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ” U Myint Soe ประธานสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าของเมียนมากล่าว
“ในเร็วๆนี้ ธูรกิจจากจีนจะย้ายมาจากผลกระทบของสงครามการค้า โดย 80% ของการลงทุนใหม่ในเมียนมาจะมาจากจีน” U Myint Soe ระบุ โดยเสริมว่าโรงงานเสื้อผ้าจากจีน ฮ่องกงและไต้หวันก็เข้ามาลงทุนในเมียนมาแล้ว
“ มีโรงงานเปิดใหม่ประมาณ 6 แห่งทุกเดือน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่มีแรงงานอย่างน้อย 3 พันคน ไม่เหมือนกับโรงงานเล็กๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” เขากล่าว
จากการพัฒนาของภาคส่วนนี้ ทำให้ธุรกิจเสื้อผ้าจำเป็นต้องมีภาระรับผิดชอบและความรับผิดชอบมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมทางสมาคมจึงจัดการฝึกอบรมที่ครอบคลุมทุกประเด็นตั้งแต่เรื่องกฎหมายถึงทรัพยากรมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีศักยภาพ แต่ภาคส่วนนี้ก็กำลังเผชิญกับความท้าทาย
ขณะที่เมียนมาส่งออกเสื้อผ้าไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา สหรัฐฯ จีน และประเทศอื่นๆ แต่อียูยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา คิดเป็นประมาณ 50% ของการส่งออกเสื้อผ้า
จากความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่และวิกฤตมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ ทำให้อียูระบุว่ากำลังพิจารณาทบทวนสิทธิพิเศษที่ให้กับเมียนมา และหากถูกอียูถอนสิทธิพิเศษ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าจะได้รับผลกระทบครั้งใหญ่ จากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ
รายงานของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของสหประชาชาติที่ตีพิมพ์เดือนส.ค.เรียกร้องให้รัฐบาลและบริษัททั่วโลกมีมาตรการคว่ำบาตรธุรกิจที่กองทัพเมียนมาเป็นเจ้าของ แต่จนถึงตอนนี้ อียูก็ยังไม่ได้เพิกถอนสิทธิพิเศษทางศุลกากรที่ให้กับเมียนมา หรือเร่งดำเนินการคว่ำบาตรธุรกิจที่กองทัพเป็นเจ้าของแต่อย่างใด.