NEDA ปรับถนน 2 เลนเชื่อมเศรษฐกิจเมียนมา

NEDA ร่วมถกรัฐบาลท้องถิ่นเมียนมา ก่อนลงพื้นที่สำรวจและรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ลั่นพร้อมเดินหน้าโครงการปรับปรุงถนน 2 ช่องทาง เชื่อมพื้นที่ “เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย” สู่ชายแดนไทย – เมียนมา โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและผลกระทบรอบด้าน
รายงานข่าวจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA แจ้งว่า ระหว่างวันที่ 28 – 30 ส.ค.62 ที่ผ่านมา พ.อ. ดร.ศรัณยู วิริยเวชกุล รอง ผอ. NEDA ได้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ในการสำรวจและออกแบบรายละเอียด โครงการปรับปรุงถนนสองช่องทาง เชื่อมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสู่ชายแดนไทย – เมียนมา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังอยู่ในแผนแม่บทการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งของอาเชียน (ASEAN Connectivity) ที่สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการพัฒนาความเชื่อมโยงตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ของแผนงาน
การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS Southern Economic Corridor : SEC) และยังเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกของภูมิภาค เชื่อมอาเซียนกับโลกตะวันออกและโลกตะวันตก
นอกจากนี้ ยังเชื่อมต่อการพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) จากพื้นที่ฝั่งทะเลภาคตะวันออกของไทยไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของเมียนมา ซึ่งจะทำให้เกิดการส่งเสริมและการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (รูปที่ 1 : แสดงเส้นทางการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งของอาเชียน)
สำหรับโครงการถนนสองช่องทางเชื่อมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสู่ชายแดนไทย – เมียนมา มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อทบทวนแผนและแนวทางในการพัฒนา (2) เพื่อทำการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการปรับปรุงถนนสองช่องทาง (3) เพื่อทำการประมาณราคาก่อสร้าง และ (4) ปรับปรุงแบบก่อสร้างของถนนขนาดสองช่องจราจรเดิม ในการเชื่อมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสู่ชายแดนไทย-เมียนมา ดังนั้น NEDA จึงได้ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 เพื่อนำเสนอผลสำรวจและออกแบบโครงการ, ผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม, ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรการต่างๆ รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ของการพัฒนาโครงการฯ เพื่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการ
รายงานข่าวระบุว่า ตัวแทนของ NEDA ได้เข้าร่วมประชุมกับ H.E. U Myint Maung, Chief Minister, Tanintharyi Regional Government กระทรวงการก่อสร้าง (Ministry of Construction) และ H.E. U Hla Tun Oo, Deputy Director General, Department of Highway คณะรัฐมนตรีตะนาวศรี ซึ่งเป็นรัฐบาลท้องถิ่นที่รับผิดชอบโครงการปรับปรุงถนนสองช่องทางเชื่อมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายฯ โดยมีการพิจารณา Draft Final Report และทำความเข้าใจกับหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานกลาง และชุมชนในพื้นที่ รวมถึงประชุมชี้แจงโครงการและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ซึ่งมี H.E. U Aung Thura, Regional Minister for Electricity and Energy ผู้แทนคณะรัฐมนตรีตะนาวศรี, H.E. U Hla Tun Oo, Deputy Director General, Department of Highway ผู้แทนกระทรวงการก่อสร้าง และผู้แทนจาก Dawei Special Economic Management Committee (DSEZ MC) กว่า 150 คน ร่วมรับฟังรายละเอียดโครงการและเสนอข้อคิดเห็นในการปรับปรุงผลการศึกษา
ทั้งนี้ NEDA ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการเปิดโอกาสให้ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอันดีต่อการพัฒนาโครงการผ่านกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตลอดการดำเนินโครงการ
จากนั้น พ.อ. ดร.ศรัณยู และคณะฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางศึกษาโครงการตามขอบเขตงานจ้างที่ปรึกษา ดูความคืบหน้าของงานศึกษาและออกแบบ โดยเฉพาะแนวทางข้าม/ทางลอดของสัตว์ป่า (Wildlife Crossing) ต่างๆ โดยแนวเส้นทางโครงการเริ่มต้นจากจุดสิ้นสุดของถนนของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไปทางทิศตะวันออก ที่บริเวณ กม.16+458 และสิ้นสุดที่ กม.156+500 บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ต.พุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ซึ่งลักษณะภูมิประเทศตลอดแนวเส้นทางเป็นภูเขาสลับกับที่ราบสูง (รูปที่ 2 : แสดงตำแหน่งและแนวเส้นทางถนนโครงการ)
ด้าน พ.อ. ดร.ศรัณยูฯ กล่าวว่า การพัฒนาและปรับปรุงถนนสองช่องทางเชื่อมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสู่ชายแดนไทย – เมียนมา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ ที่ผ่านมา NEDA ได้เน้นย้ำให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ให้ความสำคัญกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมตลอดแนวเส้นทางโครงการ โดยยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการออกแบบถนนจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยตามมาตรฐานวิศวกรรม หลีกเลี่ยงการสูญเสียพื้นที่ป่า ดำเนินควบคู่ไปกับการออกแบบการป้องกันและลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อให้การพัฒนามีความยั่งยืนและส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ใช้เส้นทาง และเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอันดีต่อการพัฒนาโครงการ นอกจากนี้ NEDA ยังได้ทำการประชาสัมพันธ์และรับข้อเสนอแนะโครงการผ่านทางเว็บไซต์ของโครงการใน 3 ภาษา อีกด้วย.