แผ่นดินไหวเขย่าสุมาตราในอินโดฯ
จาการ์ตา – เมื่อวันที่ 2 ส.ค. เกิดเหตุแผ่นดินไหวบนเกาะสุมาตราและเกาะชวาของอินโดนีเซีย ทำให้มีประกาศเตือนภัยสึนามิที่อาจมีความสูงถึง 3 เมตร
โดยแผ่นดินไหวที่มีขนาดความรุนแรง 6.9 แมกนิจูด เกิดลึกลงไปในพื้นดิน 52.8 ก.ม. จากลาบวน ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 150 ก.ม. ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงจาการ์ตา จากข้อมูลของ USGS โดยในตอนแรก USGS ระบุว่า แผ่นดินไหวมีขนาดความรุนแรง 6.8 แมกนิจูด และเกิดที่ความลึกกว่านั้น
อย่างไรก็ตาม อีก 2 ชั่วโมงถัดมา ก็มีประกาศยกเลิกเตือนภัยสึนามิ ก่อนหน้านี้ สำนักบรรเทาภัยพิบัติแห่งอินโดนีเซียระบุว่า อาจเกิดสึนามิในช่องแคบซุนดา ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเกาะชวาและเกาะสุมาตรา ซึ่งเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เหตุภูเขาไฟระเบิดที่ทำให้เกิดสึนามิตามมา คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 400 ราย
เหตุแผ่นดินไหวทำให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ความเสี่ยงสูงตามชายฝั่งต้องอพยพขึ้นไปอยู่บนพื้นที่สูง ยังไม่มีรายงานความเสียหาย แต่สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวครั้งนี้ได้ในเมืองอื่น เช่น ยอกยาการ์ตาบนเกาะชวา
ประชาชนในกรุงจาการ์ตาอพยพออกจากบ้านเรือน เนื่องจากหลายอาคารในเมืองแกว่งจากแรงสั่นสะเทือน ในเวลาประมาณ 19.03 น. ตามเวลาท้องถิ่น
“โคมไฟในอพาร์ทเมนต์ของฉันเขย่าอย่างแรง และฉันต้องวิ่งลงมาจากชั้น 19” Elisa วัย 50 ปีกล่าว “ทุกคนก็วิ่งกันหมด มันสั่นแรงจริงๆ และฉันกลัวมาก”
“ฉันอยู่ที่ชั้น 18 ตอนที่ตึกสั่น มันสั่นสะเทือนแรงมาก และเป็นอยู่นานเป็นนาทีเลย” Christabelle Adeline ซึ่งออฟฟิศของเธอตั้งอยู่กลางกรุงจาการ์ตาเล่าให้ฟัง
Sam John ซึ่งมาทำธุรกิจที่กรุงจากร์ตาและพักอยู่ที่โรงแรม Mercure Jakarta กำลังรับประทานอาหารมื้อค่ำที่ห้องอาหารกับเพื่อนๆ เมื่อ “ทั้งตึกเริ่มสั่น”
“เราทิ้งทุกอย่างและวิ่งออกไปที่จุดอพยพตามที่พนักงานโรงแรมชี้ทางให้” เขากล่าวให้สัมภาษณ์สื่อ CNA “เรารออยู่ข้างนอกนาน 30 นาที ตอนนี้เราโอเคแล้ว โรงแรมบอกว่าเราปลอดภัยและเข้าไปในโรงแรมได้” เขาเสริม
เมื่อเดือนก.ค. มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย และประชาชนนับพันคนต้องอพยพออกจากบ้านเรือน หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.3 แมกนิจูดบนเกาะมาลุกุ ซึ่งเป็นเกาะห่างไกลทางตะวันออกของอินโดนีเซีย
ขณะที่ฤดูร้อนปีที่แล้ว เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ลอมบอก สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังใกล้กับเกาะบาหลี ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 ราย และต้องอพยพนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมากออกจากเกาะ
ทั้งนี้ ตำแหน่งที่ตั้งของอินโดนีเซียที่อยู่บน ‘วงแหวนแห่งไฟ’ ของแปซิฟิก ซึ่งเปลือกโลกลู่เข้าหากัน ทำให้อินโดนีเซียต้องประสบกับเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิอยู่บ่อยครั้ง.