เมียนมา – ญี่ปุ่นฟื้นสร้างสนามบินหงสาวดี
เมียนมาและญี่ปุ่นจะร่วมลงทุนและลงนามในข้อตกลงในปีหน้าเพื่อเริ่มต้นก่อสร้างโครงการท่าอากาศยานนานาชาติหงสาวดีที่ล่าช้ามานาน โดยตำแหน่งที่ตั้งของท่าอากาศยานอยู่ห่างจากย่างกุ้งไปทางเหนือ 80 ก.ม. ใกล้เมืองพะโค
จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐหลายคน ทั้งรัฐบาลเมียนมาและญี่ปุ่นมีการพบกันอย่างน้อย 4 ครั้งเพื่อพูดคุยในรายละเอียดของโครงการ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนเป็นเงินกู้จากญี่ปุ่น และเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและดำเนินการของท่าอากาศยานในประเทศ
ขณะที่ยังไม่มีการประกาศรายละเอียดของค่าใช้จ่าย มูลค่าการประมูลโครงการอยู่ที่ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (46,425 ล้านบาท) แต่องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ประเมินว่าโครงการจะมีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (61,900 ล้านบาท) โดยท่าอากาศยานแห่งใหม่จะสร้างบนพื้นที่ 3,600 เฮกตาร์ของการท่าอากาศยาน
นอกจากนี้ จะมีการอนุมัติแบบล่าสุดของท่าอากาศยาน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับโครงข่ายรถไฟ การประชุมยังเป็นการเชื่อมโยงท่าอากาศยานแห่งใหม่กับนครย่างกุ้งผ่านทางด่วนในเฟสแรก และทางรถไฟในเฟสสอง
U Aung Ye Tun รองเลขาธิการถาวรการสื่อสารและกระทรวงคมนาคม และ U Ye Htut Aung รองผู้อำนวยการทั่วไปกล่าวกับสื่อเมียนมาไทม์ว่า โครงการท่าอากาศยานได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และได้รับการจัดสรรลำดับความสำคัญให้เริ่มโครงการได้ทันที
“ ทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจาที่จะก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติหงสาวดีด้วยเงินสนับสนุนจากเงินกู้ญี่ปุ่น หลังจากการเจรจาบรรลุผล ขั้นตอนต่อไปคือการสำรวจพื้นที่ ” U Aung Ye Tun กล่าว
U Ye Htut Aung เสริมว่าเมียนมาและญี่ปุ่นจะลงนามข้อตกลงในปี 2563 หลังจากมีบริษัทญี่ปุ่นมีการประกวดราคาในไตรมาส 3 ของปีนี้
“ หากการประกวดราคาประสบผลสำเร็จ เราสามารถลงนามสัญญาในช่วงต้นปี 2563 และเริ่มการก่อสร้างได้ทันที ” เขากล่าว โดยเสริมว่าบริษัทท่าอากาศยานนาริตะอาจเป็นหนึ่ง
ในบรรดาบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งที่สนใจจะเข้าร่วมประกวดราคาด้วย
เนื่องจากท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้งจะรองรับผู้โดยสารได้เต็มศักยภาพในปี 2563 ทำให้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติหงสาวดี นอกจากนครย่างกุ้งแล้ว มีเพียงกรุงเนปิดอว์และมัณฑะเลย์เท่านั้นที่มีท่าอากาศยานนานาชาติ