1 ใน 4 ของเมียนมายังยากจน
ประชากร 1 ใน 4 ของเมียนมายังคงมีคุณภาพชีวิตอยู่อย่างยากจน จากการสำรวจสภาพการใช้ชีวิตในเมียนมาปี 2560 ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. โดยกระทรวงวางแผนและการคลัง
โดยการสำรวจได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านเทคนิคจากธนาคารโลกและสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า สัดส่วนของจำนวนประชากรที่มีชีวิตต่ำกว่าเส้นแบ่งระดับความยากจนลดลงจาก 48.2% ในปี 2548 ลงมาอยู่ที่ 24.8% ในปี 2560 ถึงแม้ประเทศจะมีประชากรเพิ่มขึ้น แต่จำนวนคนยากจนลดลงจาก 18.7 ล้านคนในปี 2548 ลงมาอยู่ที่ 11.8 ล้านคนในปี 2560
โดยข้อมูลในรายงานมีการเก็บรวบรวมในปี 2560 ตัวเลขจึงอาจแตกต่างได้กับปัจจุบัน จากข้อมูลของ U San Myint ผอ.ขององค์การสถิติกลาง
ในเมียนมา ประชากรที่ต้องดิ้นรนและทำงานได้เงิน 1,500 จ๊าดต่อวัน นับเป็นผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งระดับความยากจน U San Myint กล่าว
“ ในการคำนวณเส้นแบ่งระดับความยากจน เราประเมินค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด ทั้งค่าอาหารและไม่ใช่อาหาร เพื่อหาค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่น้อยที่สุดในประเทศ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่านั้น จึงจัดเป็นคนยากจน นี่เป็นค่าใช้จ่ายของความต้องการขั้นพื้นฐาน มีการรวบรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือน คืออาหารและสิ่งของที่ไม่ใช่อาหาร และมีการคำนวณค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุด ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งที่น้อยที่สุดจะถูกจัดว่าเป็นคนจน การคำนวณประเมินจากพื้นฐานรายได้ต่ำที่สุดคือ 1,590 จ๊าดต่อวัน” U San Myint กล่าว
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ประชากรที่อยู่เหนือเส้นแบ่งระดับความยากจนในเมียนมายังคงอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพ และสามารถตกลงมาอยู่ใต้เส้นแบ่งได้อีกครั้งจากปัจจัยที่เกินคาดการณ์ เช่น ปัญหาสุขภาพ หรือไม่มีงานทำ
มีการจัดทำการสำรวจทุก 5 ปี และจะมีการนำข้อมูลไปใช้ในการแก้ปัญหาความยากจนของรัฐบาล
“ เราพิจารณาข้อมูลจากรายงาน เมื่อเรามีการตัดสินใจเรื่องงบประมาณของภูมิภาคและของรัฐ” U San Myint กล่าว
จากผลการสำรวจ รัฐชีนเป็นรัฐที่มีอัตราความยากจนสูงที่สุดในประเทศอยู่ที่ 58% รองลงมาคือรัฐยะไข่อยู่ที่ 41.6% ขณะที่ตะนาวศรี ,มัณฑะเลย์ และย่างกุ้งมีอัตราความยากจนอยู่ที่ 13%
อัตราความยากจนในพื้นที่ชนบทอยู่ที่ 30.2% ขณะที่ในเขตเมืองอยู่ที่ 11.3% โดยมีการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลจาก 13,730 ครัวเรือนระหว่างเดือนธ.ค.2559 – ธ.ค. 2560