เวียดนามไกลบ้านหนุนสตาร์ทอัพในประเทศ

ชาวเวียดนามจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศกลับคืนสู่เวียดนามเพื่อเริ่มธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากมองว่าเวียดนามมีศักยภาพสูงและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี
Phùng Công Dũng ประธานคณะกรรมการชาวเวียดนามในต่างประเทศในนครโฮจิมินห์ กล่าวกับสื่อว่า มีคนจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในอาชีพในประเทศอื่นๆ ที่ได้ขยับขยายกลับมาลงทุนในเวียดนาม
โดยชาวเวียดนามรุ่นใหม่ยังได้กลับประเทศบ้านเกิดพร้อมกับประสบการณ์มากมาย และความรู้ที่กว้างขวางเพื่อก่อตั้งธุรกิจ โดยเฉพาะในนครโฮจิมินห์
หน่วยงานรัฐบาล เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดเตรียมนโยบายรองรับด้านนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือสตาร์ทอัพทางธุรกิจ
มีการประชุมหลายครั้ง รวมถึงการประชุมที่จัดโดยคณะกรรมการเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ช่วยเชื่อมโยงชาวเวียดนามในต่างประเทศเข้ากับคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียเรื่องสตาร์ทอัพ โดยมีการนำเสนอไอเดียสตาร์ทอัพใหม่ๆให้นักลงทุนหลายรายในการประชุมครั้งนี้
Peter Hồng ซึ่งเป็นชาวเวียดนาม ที่ได้สัญชาติออสเตรเลีย และเป็นรองประธานบอร์ดของสมาคมธุรกิจชาวเวียดนามในต่างประเทศ (BAOOV) ระบุว่า มีชาวต่างชาติจำนวนมากที่มาเวียดนามเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจ
“ ชาวเวียดนามในต่างประเทศมีความได้เปรียบมากกว่า เช่น รู้ภาษาของบ้านเกิดและมีความเข้าใจวัฒนธรรมและกฎหมายเวียดนามได้ลึกซึ้งกว่า” เขากล่าว “ เป็นเรื่องสำคัญมากที่พวกเขาปฏิบัติตามกฎหมายและเข้าใจเรื่องภาษี”
Danny Võ Thành Đăng รองประธาน BAOOY ระบุว่า เขาเดินทางจากสิงคโปร์กลับมาที่เวียดนามในปี 2551 เพราะเศรษฐกิจเวียดนามเติบโต
เขาเป็นที่ปรึกษาให้กับแบรนด์เนมและสตาร์ทอัพ โดยเขาระบุว่า สตาร์ทอัพไม่เพียงช่วยลูกค้าเวียดนามเท่านั้น แต่หมายถึงทั่วโลกด้วย และจะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างที่ Grab เคยทำมา
สตาร์ทอัพควรมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความต้องการของแต่ละตลาด โดยเขาเสริมว่า การเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการจำนวนมากช่วยเพิ่มโอกาสยิ่งขึ้น
“ สำคัญมากในการสร้างแบรนด์ ซึ่งจะช่วยในการโปรโมทและโฆษณา” เขาเสริม
จากข้อมูลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกือบ 15% ของผู้ประกอบการในเมืองเป็นบริษัทด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีจำนวนทั้งหมดคือ 75 มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย กว่า 270 สถาบันวิจัยและกว่า 125 แล็บ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์กว่า 2 หมื่นคน.