ข่าวเท็จเกลียดจีนแพร่โซเชียลอินโดฯ ช่วงจลาจล
การประท้วงที่รุนแรงในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และมีข้อความแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ว่าเหยื่อที่เสียชีวิตถูกยิงโดย “ตำรวจจากจีน”
นอกจากนี้ ยังมีภาพตำรวจสวมหน้ากากที่มีแคปชั่นบรรยายว่า “จีนส่งกำลังฝ่ายความมั่นคงมาที่อินโดฯ ” ขณะที่อีกภาพเป็นภาพเซลฟี่ของชายคนหนึ่งที่มีตำรวจปราบม็อบ อยู่ข้างหลัง พร้อมแคปชั่นว่า “ เพื่อนๆ ตำรวจพวกนี้พูดภาษาอินโดฯไม่ได้”
ภาพและข้อความต่อต้านชาวจีนแพร่กระจายอย่างรวดเร็วบนโซเชียลมีเดีย ทำให้เมื่อวันที่ 22 พ.ค. รัฐบาลอินโดนีเซียต้องบล็อก หรือชะลอการแชร์ภาพและวีดีโอให้ช้าลงบนเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และ วอทส์แอป เพื่อหยุดข่าวสารที่เป็นเท็จ
รมว.กระทรวงสื่อสารกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การเข้มงวดกวดขันของรัฐบาลมีเพื่อชะลอคอนเทนต์ที่อาจก่อให้เกิดความรู้สึกอ่อนไหวที่นำไปสู่ความรุนแรง
“ เราไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อนทั้งในแง่ปริมาณ ความรุนแรง และการประสานร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ” Harry Sufehmi ผู้ร่วมก่อตั้ง Mafindo ซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านข่าวเท็จของอินโดนีเซียระบุ
การจลาจลเริ่มต้นจากการประท้วงผลการเลือกตั้งที่ประธานาธิบดีโจโค วิโดโดชนะได้เป็นผู้นำของอินโดฯอีกสมัย กลุ่มผู้สนับสนุนปราโบโว สุเบียนโตคู่แข่งของวิโดโดไม่พอใจจึงเริ่มประท้วงจากความสงบก็ค่อยๆรุนแรงขึ้น จนตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาปราบปราม โดยรายงานล่าสุดคือมีผู้บาดเจ็บกว่า 200 คนและเสียชีวิต 6 ราย
อับดุล กานี วัย 33 ปี เป็นหนึ่งในผู้ประท้วงนับพันในกรุงจาการ์ตา เขาเดินทางมาจากมากัสซาร์ สุลาเวสีใต้เพื่อประท้วงผลการเลือกตั้ง เขามองว่าการเรียกร้องให้มีการชุมนุมของปราโบโว ถือเป็น jihad หรือการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อศาสนา และเชื่อว่าข้อความเรื่องตำรวจจีนไม่ใช่ข่าวเท็จ แต่เป็นเรื่องจริง
“ ผมเชื่อว่า พี่น้องเราถูกตำรวจจีนยิง เราสู้เพื่อชาติของเรา เราจะพิสูจน์ว่าไม่ใช่ข่าวปลอม เขาเป็นตำรวจแล้วทำไมพูดอินโดฯไม่ได้ ? พวกเขามาจากจีน จะเอาเปรียบเรา ประวัติศาสตร์บอกเราว่า พวกเขาตักตวงผลประโยชน์มานานหลายปีตั้งแต่สมัยซูฮาร์โตและตอนนี้ก็โจโควี่”
อับดุลกล่าวหาว่าโจโควี่ขายชาติให้จีน โดยย้ำว่า “ เขาไปจีนบ่อยมาก ‘พี่ใหญ่’ ของเขาอยู่ที่นั่น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ประชาชนอินโดนีเซีย”
พลเมืองอินโดฯเชื้อสายจีน ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 260 ล้านคน รู้สึกหวาดกลัวอีกครั้ง หลังจากมีการจลาจลและข่าวเท็จเต็มโลกออนไลน์
หลายคนให้สัมภาษณ์สื่อว่ารู้สึกกังวลมากว่า พวกเขาจะตกเป็นเป้าของการจลาจลที่รุนแรงเหมือนเมื่อปี 2541 ที่ม็อบมุ่งโจมตีทั้งร้านและบ้านของคนจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คนในเวลานั้น
“ทุกครั้งที่เกิดความรุนแรง หรือมีจลาจล ชาวอินโดฯเชื้อสายจีนกลัวว่าจะตกเป็นเป้า มันเป็นฝันร้าย”
กลุ่ม Human Rights Watch เชื่อว่ามีการสร้างข่าวปลอมขึ้นมาเพื่อมุ่งเป้าให้เกิดความเกลียดชังกับพลเมืองเชื้อสายจีนและธุรกิจของพวกเขาในอินโดนีเซีย
“ กลุ่มเหล่านี้ รวมทั้งปราโบโวและที่ปรึกษาของเขา มีชื่อเสียงด้านลบในการใช้ความอ่อนไหวด้านเชื้อชาติและศาสนา ทั้งการต่อต้านคนเชื้อสายจีน เพื่อขับเคลื่อนเข้าสุ่อำนาจ” Andreas Harsono นักวิจัยชาวอินโดฯของ Human Rights Watch ระบุ
“ พวกเขาเคยทำอย่างนี้แล้วในชวาเมื่อปี 2541 ก่อการจลาจลต่อต้านคนเชื้อสายจีน และพยายามจะทำอีกในวันนี้”.