สอบสวนจนท.กกต.อินโดฯ ตายหลายร้อยคน
ส.ส.อินโดนีเซียเรียกร้องให้มีการไต่สวนของสภาในกรณีการเสียชีวิตกว่า 500 รายของเจ้าหน้าที่และตำรวจในระหว่างการเลือกตั้งเมื่อเดือนเม.ย. โดยส่วนใหญ่เกิดจากความเหน็ดเหนื่อยจากสภาพการทำงานที่หนักเกินไป
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 เม.ย.เป็นครั้งแรกที่อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมากถึง 260 ล้านคนรวมการเลือกตั้งประธานาธิบดีและส.ส.ในภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน แต่ดูจะเป็นการทำงานที่หนักและเร่งรีบเกินไปสำหรับเจ้าหน้าที่ 7 ล้านคนที่รับผิดชอบในการเลือกตั้งครั้งนี้
มีการประเมินว่าการเลือกตั้งภายในวันเดียวครั้งใหญ่ที่สุดในโลกมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งถึง 80% จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 193 ล้านคน โดยแต่ละคนจะได้รับแจกบัตรเลือกตั้งถึง 5 ใบเพื่อใช้สิทธิในคูหาเลือกตั้งกว่า 8 แสนแห่งทั่วประเทศ
แต่การจัดการเลือกตั้งในประเทศที่มีความห่างไกลจากพื้นที่ตะวันตกถึงตะวันออกมากถึง 5,000 ก.ม.และประกอบด้วยหมู่เกาะถึง 17,000 เกาะ ทำให้เกิดความยากลำยากในการขนส่งบัตรเลือกตั้งและการนับคะแนนทั้งหมดด้วยมือ
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (KPU) ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 456 ราย และ 4,310 คนล้มป่วย นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับที่ปรึกษาอีก 91 รายและตำรวจ 22 นายเสียชีวิตด้วย
รัฐบาลตกลงจ่ายเงินชดเชยเยียวยาประมาณ 36 ล้านรูเปียห์ ( 80,240 บาท) ให้กับญาติของผู้เสียชีวิตแต่ละราย อาเรียฟ ปรีโย ซูซานโต โฆษกกกต.กล่าว โดยจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เจ็บป่วยด้วย
ปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายคือชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานภายใต้ความเครียด อายุ และปัญหาสุขภาพของเจ้าหน้าที่หลายคน รวมถึงสภาพการทำงานหนักและอากาศร้อนจัด อารี ฟาห์เรียล ซยัม คณบดีคณะแพทยศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยอินโดนีเซียกล่าว โดยเขาเสริมว่า คนที่มีอายุเกิน 60 ปีไม่ควรทำงานในการเลือกตั้ง
ข้อมูลจากกรุงจาการ์ตา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 18 ราย พบว่าส่วนใหญ่มีอายุเกิน 50 ปีและมีโรคประจำตัว ซึ่งทำให้พวกเขาเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และทางเดินหายใจล้มเหลว นีลา โมลก รมว.กระทรวงสาธารณสุขระบุ
“ พวกเขามีปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้ว แต่เป็นความจริงที่พวกเขาทำงานหนักเกินไป ชั่วโมงการทำงานนานเกินไป ควรได้พักผ่อนมากกว่านี้” เธอกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 8 พ.ค.
แต่มาตรการเยียวยาดูจะน้อยเกินไปสำหรับมาสนัน บินติ อับดุล ฮามิด ซึ่งสามีเสียชีวิตหลังจากทำงานหนักนานหลายชั่วโมงในวันเลือกตั้งที่คูหาเลือกตั้งในเบกาซี ชวาตะวันตก เธอระบุว่า อับดุล โรชิม วัย 40 ปี ซึ่งไม่มีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง เริ่มรู้สึกอ่อนเพลียและหายใจติดขัดสองวันหลังการเลือกตั้ง เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในห้อง ICU
เธอยอมรับการเสียชีวิตของสามีว่าเป็น ‘โชคชะตา’ แต่หวังว่าจะไม่มีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายอีก “ ฉันไม่อยากให้มันเกิดขึ้นอีกเลย” เธอกล่าว.