2 นักข่าวเมียนมาถูกปล่อยตัวแล้ว
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. สองนักข่าวชาวเมียนมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำหลังจากถูกตัดสินว่าละเมิดกฎหมายความลับของทางราชการ ได้รับอิสรภาพเดินออกจากเรือนจำชานเมืองย่างกุ้งหลังจากพวกเขาถูกคุมขังนานกว่า 500 วัน
โดยสองนักข่าว วา โลน วัย 33 ปี และจอ โซ อู วัย 29 ปี ถูกตัดสินในเดือนก.ย. และถูกศาลตัดสินเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้วให้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 7 ปี คดีนี้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึงกระบวนการประชาธิปไตยในเมียนมา และเกิดกระแสความไม่พอใจจากบรรดานักการทูตและกลุ่มสิทธิ
ประธานาธิบดี อู วิน หมินต์ ได้ประกาศอภัยโทษให้กับนักโทษจำนวนนับพันคนเมื่อเดือนเม.ย. เป็นประเพณีของเมียนมาที่จะมีการประกาศอภัยโทษให้กับนักโทษทั่วประเทศในช่วงเวลาปีใหม่ของเมียนมา ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 17 เม.ย. ทางสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่าสองนักข่าวไม่ได้ก่ออาชญากรรมใดๆ และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวทั้งสองคน
สื่อท้องถิ่นต่างพากันยินดีและรายงานข่าวขณะที่พวกเขาเดินผ่านประตูเรือนจำออกมา วา โลน ชูนิ้วโป้งให้ และกล่าวว่าเขารู้สึกสำนึกในบุญคุณความพยายามช่วยเหลือจากนานาชาติเพื่อให้พวกเขาได้รับอิสรภาพ
“ ผมมีความสุขมาก และตื่นเต้นที่เห็นครอบครัวและเพื่อนร่วมงานของผม ผมแทบรอไม่ไหวที่จะไปทำงานที่ห้องข่าวของผม” เขากล่าวขณะที่จอ โซ อู ยิ้มและโบกมือให้บรรดาผู้สื่อข่าว
ก่อนที่พวกเขาจะถูกจับกุมตัวในปี 2560 ทั้งสองคนกำลังทำงานสืบสวนเรื่องการสังหารชายและเด็กชายชาวมุสลิมโรฮิงญา 10 คน ด้วยน้ำมือของทหารเมียนมาและพลเมืองชาวพุทธในรัฐยะไข่ ในระหว่างที่กองทัพเมียนมาเริ่มทำการปราบปรามชาวโรฮิงญาในเดือนส.ค.2560 การปราบปรามอย่างทารุณโหดร้าย ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาอพยพลี้ภัยข้ามพรมแดนเข้าไปในบังคลาเทศกว่า 730,000 คน จากการประเมินของสหประชาชาติ
โดยรายงานข่าวของพวกเขา ซึ่งมีคำสัมภาษณ์ของผู้ลงมือกระทำความผิด พยานและครอบครัวของเหยื่อ ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลกเมื่อเดือนพ.ค.
สตีเฟน เจ.แอดเลอร์ หัวหน้าบก.ของรอยเตอร์ระบุว่า เขาตื่นเต้นมากกับข่าวนี้
“ เรามีความยินดีอย่างใหญ่หลวงที่เมียนมาปล่อยตัวผู้สื่อข่าวที่กล้าหาญของเรา วา โลน และจอ โซ อู หลังจากพวกเขาถูกจับเมื่อ 511 วันก่อน พวกเขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสำคัญของเสรีภาพสื่อทั่วโลก เราขอต้อนรับการกลับมาของพวกเขา” แอดเลอร์กล่าว
ศาลสูงสุดของเมียนมายกคำร้องอุทธรณ์ของนักข่าวทั้งสองในเดือนเม.ย. โดยพวกเขายื่นคำร้องพร้อมหลักฐานว่าตำรวจจัดฉากเพื่อจับกุมพวกเขา และขาดหลักฐานว่าพวกเขาก่ออาชญากรรม หลังจากศาลสูงย่างกุ้งยกคำร้องอุทธรณ์ก่อนหน้านี้ในเดือนม.ค.
ลอร์ด อรา ดาร์ซี ศัลยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มที่ปรึกษาของรัฐบาลเมียนมาในการปฏิรูปรัฐยะไข่ มีบทบาทสำคัญในการปล่อยตัวของสองนักข่าว
“ ผลที่ได้แสดงว่าการพูดคุยเวิร์ค แม้แต่ในสถานการณ์ที่ยากที่สุดก็ตาม” ลอร์ดดาร์ซีกล่าว
ในแถลงการณ์ ลอร์ดดาร์ซีระบุว่า การพูดคุยเกี่ยวกับการอภัยโทษให้สองนักข่าวเกี่ยวข้องกับหลายฝาย ทั้งรัฐบาลเมียนมา สำนักข่าวรอยเตอร์ สหประชาชาติ และผู้แทนจากรัฐบาลอื่น แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม.