ศก.ฟิลิปปินส์ยังแกร่ง แม้ทั่วโลกผันผวน
ธนาคารโลกระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ว่า ท่ามกลางความผันผวนทั่วโลกและในประเทศ แต่เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะเติบโต 6.4% ในปี 62 นี้และ เติบโตถึง 6.5% ในปีหน้าและปี 64
โดยตัวเลขประเมินรอบใหม่ต่ำกว่าตัวเลขเดิมที่ทางธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ในเดือนม.ค. คือ 6.5% ในปีนี้ และ 6.6% ในปี 64 โดยได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณปี 62 นี้ และการชะลอตัวของการค้าทั่วโลก ซึ่งมีผลทำให้ดีมานด์การส่งออกสินค้าของฟิลิปปินส์อ่อนแรงลง อ้างอิงจากข้อมูลเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ (PEU)
“แนวโน้มการเติบโตของประเทศยังคงเป็นบวก” Mara Warwick ผอ.ประจำบรูไน มาเลซีย ฟิลิปปินส์และประทศไทยจากธนาคารโลกระบุ โดยเธอกล่าวต่อไปอีกว่า “ การบริโภคภาคเอกชนที่สูงขึ้น เนื่องจากเงินเฟ้อลดต่ำลง เงินค่าจ้างที่ส่งกลับบ้านมีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และการใช้จ่ายในการเลือกตั้งจะช่วยหนุนการเติบโตในปีนี้ ”
“ การเติบโตในการลงทุนของภาครัฐจะซบเซาลงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 62 แต่คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ” Warwick เสริม
PEU ระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ได้แรงขับเคลื่อนจากการบริโภค โดยการบริโภคในครัวเรือนคิดเป็นมากกว่า 2 ใน 3 ของการใช้จ่ายโดยรวม
ตัวเลขการเติบโตของการบริโภคเอกชนประจำปีลดลงจาก 5.9% ในปี 60 ลงมาอยู่ที่ 5.6% ในปี 61 จากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 5.9% ในปี 62 และ 6.0% ในปี 63 จากเงินเฟ้อที่ลดลง และการสร้างงานที่ยังส่งผลต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ
รายงานยังชี้ว่า คาดการณ์ว่าเงินค่าจ้างที่ส่งกลับบ้านของแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานต่างประเทศจะยังคงมีเสถียรภาพ จากโอกาสการจ้างงานใหม่สำหรับชาวฟิลิปปินส์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เยอรมนี และโปแลนด์ ซึ่งจะช่วยหนุนตัวเลขการบริโภค
อย่างไรก็ตาม PEU ระบุถึงความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบการเติบโตโดยรวมของฟิลิปปินส์ เช่น การอนุมัติงบประมาณปี 62 ล่าช้า และภาวะสภาพอากาศแห้งแล้ง หากไม่มีการอนุมัติงบประมาณ รัฐบาลจะไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการใหม่ๆที่ส่งผลต่อการลงทุนสาธารณะ ขณะที่ปรากฎการณ์เอล นีโญ จะส่งผลหลายเดือน ความแห้งแล้งจะทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลง และดันราคาอาหารให้สูงขึ้น
รายงานยังเน้นถึงความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ทั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้น และการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ส่งผลกับเงินกู้ในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
“ ในระยะสั้น ความสำคัญลำดับต้นๆ เพื่อให้การเติบโตที่รวดเร็วมีความยั่งยืนคือการจัดการงบประมาณ และดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ” Rong Qian นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำธนาคารโลกให้ความเห็น
ขณะที่ในระยะยาว รายงานเน้นถึงความจำเป็นของประเทศที่ต้องมุ่งลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ คือด้านสุขภาพ โภชนาการ การศึกษา และทักษะ เพื่อเร่งการเติบโตให้ครอบคลุม หรือเป็นการเติบโตที่เอื้อประโยชน์แก่คนยากจน และผู้ที่อ่อนแอที่สุด.