สงครามการค้ากระทบไต้หวัน/มาเลย์มากสุด
ไต้หวันและมาเลเซียจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในระยะใกล้ หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีนยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีโอกาสมากที่จะเพลี่ยงพล้ำได้ รายงานล่าสุดของ Golden Sachs ระบุ
ประเทศผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ในเอเชียมีความเสี่ยงมากขึ้น หากจีนตัดสินใจที่จะนำเข้าผลิตภัณฑ์อเมริกันมากขึ้นเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางการค้า นักวิเคราะห์จากกลุ่ม Goldman ระบุในรายงานที่ตีพิมพ์ในสัปดาห์นี้
โดย GDP ไต้หวันจะหายไปกว่า 1% ขณะที่มาเลเซียจะสูญไปประมาณ 0.7% อ้างอิงจากการประเมินของรายงาน บนพื้นฐานที่ว่า รายการซื้อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯของจีนมีมูลค่าถึง 125,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 3.97 ล้านล้านบาท ) โดยแต่ละประเทศทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่น จะสูญเสียรายได้ถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 254,480 ล้านบาท
ดีลการซื้อขาย ซึ่งจีนสัญญาจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น เป็นจุดสำคัญในการเจรจาการค้าระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯพยายามจะลดตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯที่มีกับจีนลง โดยในปีที่แล้วสูงถึง 891,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 28.34 ล้านล้านบาท
ในเดือนธ.ค. 61 ก่อนหน้าการพักรบทางการค้านาน 90 วัน ที่ขยายเวลาอีกครั้งในเดือนก.พ. ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนสัญญากับผู้นำสหรัฐฯ ว่า จีนจะตกลงซื้อสินค้าเกษตรและพลังงานจากสหรัฐฯมากขึ้น “อย่างเป็นรูปธรรม” และจีนยังเสนอเพิ่มคำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์จากบริษัทอเมริกันอีกด้วย
ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ในการซื้อของจีน มีขึ้นในช่วงเวลาที่ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกชะลอตัว สำนักสถิติการค้าเซมิคอนดักเตอร์โลกทำนายว่า ตลาดชิปจะลดลง 3% ในปี 62 นี้ เมื่อเทียบกับที่เคยเติบโตถึง 13.7% ในปี 61
โดยเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบริษัทยักษ์ใหญ่เซมิคอนดักเตอร์อย่าง ซัมซุง และ SK Hynix มียอดส่งออกที่ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แล้วในเดือนก.พ. หลังจากมีการเติบโตนานกว่า 2 ปี โดย Taiwan Semiconductor Manufacturing ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน มีรายได้ที่ลดลง 3 เดือนต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
นักวิเคราะห์ที่ Goldman ระบุว่า พวกเขา “พบว่าเกาหลีใต้และไต้หวันจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในระยะใกล้ ” หากจีนตัดสินใจซื้อชิปเพิ่มจากสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ซัพพลายมีมากเกินไป
“ นอกจากผู้ผลิตชิปรายใหญ่แล้ว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์อาจสูญเสียธุรกิจชิปให้กับซัพพลายเชนของสหรัฐฯ” รายงานระบุ
ในปี 61 เกือบ 40% ของการส่งออกของมาเลเซียคือสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อ้างอิงจากสถิติของกระทรวงพาณิชย์ของมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม Goldman ย้ำว่ารายงานมุ่งเน้นที่ผลกระทบในระยะอันใกล้ของข้อตกลงการค้าสหรัฐฯกับจีน
“ ในระยะยาว เราคาดการณ์ว่าสมดุลการค้าจะถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยพื้นฐาน เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศและการลงทุน มากกว่าข้อตกลงการค้าทวิภาคี” รายงานระบุ.