ยอดเสียชีวิตเหมืองถล่มอินโดฯแตะ 16 ราย
จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุเหมืองทองถล่มทางตอนเหนือของอินโดนีเซียในสัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้นเป็น 16 ราย เนื่องจากความหวังที่จะพบผู้รอดขีวิตริบหรี่ลง ทางการอินโดฯระบุเมื่อวันที่ 6 มี.ค.
มีคนงานเหมือง 18 รายที่ถูกช่วยเหลือออกมาได้ แต่พวกเขามีอาการบาดเจ็บจากเหตุเหมืองเถื่อนบนเกาะสุลาเวสีถล่ม แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีอีกกี่คนที่อยู่ในเหมืองในช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 26 ก.พ.
ทั้งนี้ สภาพภูมิประเทศ ผืนดินที่ไม่เสถียร และช่องชาฟต์ในเหมืองที่คับแคบส่งผลกระทบทำให้ความพยายามในการกู้ชีพดำเนินไปอย่างยากลำบาก
Sutopo Purwo Nugroho โฆษกสำนักบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติระบุว่า “ ทีมอพยพทำงานตลอด 24 ชั่วโมงไม่ได้หยุดนับตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.” เมื่อไซต์เหมืองมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการทำงานของทีมค้นหา โดยเขาเสริมว่า รถขุด 2 คันเคลียร์ซากปรักหักพังเพื่อค้นหาร่างผู้เสียชีวิตที่อาจถูกฝังอยู่ภายในเหมือง
ในช่วง 2 – 3 วันแรก ทีมกู้ชีพต้องขุดดินด้วยมือเพื่อเข้าถึงผู้รอดชีวิต เพราะเป็นสถานการณ์ที่คับขันเสี่ยงอันตราย
โดยเจ้าหน้าที่ยังต้องยุติการค้นหาชั่วคราวเมื่อวันที่ 5 มี.ค.หลังจากหินเริ่มถล่มลงมาที่พวกเขา
“ ในจุดนี้ โอกาสของการค้นพบผู้รอดชีวิตมีน้อยมาก” Abdul Muin Paputungan จากสำนักบรรเทาภัยพิบัติในท้องถิ่นกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP
ยังไม่มีความชัดเจนถึงจำนวนคนงานเหมืองทั้งหมดที่อยู่ในช่องชาฟต์ในเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากจำนวนผู้รอดชีวิตยังคงไม่นิ่ง แต่สำนักบรรเทาสาธารณภัยระบุว่า คนงานเหมืองบางรายระบุว่าน่าจะอยู่ระหว่าง 50 – 100 คน
Paputungan ระบุว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่ทีมกู้ชีพจะค้นหาคนงานเหมืองได้ครบทั้งหมด
ทั้งนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นใน Bolaang Mongondow ซึ่งเป็นพื้นที่ในสุลาเวสี ซึ่งคนงานเหมืองเสียชีวิต 5 รายในเดือนธ.ค.61 หลังจากเกิดอุบัติเหตุในเหมืองทองผิดกฎหมาย
อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติ มีเหมืองที่ไม่ได้รับใบอนุญาตจำนวนมาก โดยเหมืองบางแห่งไม่มีแม้แต่ระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน
ในปี 2559 มีคนงานเหมืองเสียชีวิต 11 ราย หลังเกิดเหตุโคลนถล่มในเหมืองทองที่จังหวัดจัมบิบนเกาะสุมาตรา และย้อนไปในปี 2558 มีคนงานเหมือง 12 รายเสียชีวิตเมื่อพวกเขาเข้าไปในอุโมงค์ของเหมืองทองที่ไม่ได้ใช้งานบนเกาะชวา.