เมียนมาประชุมปราบกบฎรัฐยะไข่
เมื่อวันที่ 7 ม.ค นางอองซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลเมียนมามีการประชุมกับผู้นำกองทัพเรื่องการโจมตีตำรวจของกลุ่มติดอาวุธ และรัฐบาลของเธอเรียกร้องให้กองทัพ “บดขยี้” กลุ่มกบฎ โฆษกรัฐบาลรายงาน
การสู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลและกบฎกองทัพอาระกันในรัฐยะไข่ทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพหนีความรุนแรงตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา อ้างอิงจากรายงานของสหประชาชาติ
กองทัพอาระกัน ซึ่งเป็นกลุ่มกบฎของชาวพุทธในรัฐยะไข่ต้องการปกครองตนเองในรัฐยะไข่ เนื่องจากเป็นรัฐที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาพุทธ
ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาเข้าปราบปรามในรัฐยะไข่อย่างรุนแรงในปี 2560 หลังการโจมตีตำรวจของกลุ่มติดอาวุธมุสลิมโรฮิงญา ส่งผลทำให้ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนต้องอพยพลี้ภัยข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศ
Zaw Htay โฆษกรัฐบาลเมียนมาระบุว่า นางซูจี ประธานาธิบดีวิน มินต์ และสมาชิกคณะรัฐมนตรีคนอื่นได้พบกับผู้นำกองทัพ ทั้งผบ.สูงสุด มิน ออง ลาย รองผบ. และผอ.สำนักข่าวกรองของกองทัพ เพื่อปรึกษากันเรื่อง “ กิจการต่างประเทศและความมั่นคงของชาติ”
“ ทำเนียบประธานาธิบดีได้แนะนำให้กองทัพเปิดปฏิบัติการบดขยี้กลุ่มก่อการร้าย ” Zaw Htay กล่าวในการแถลงข่าวในกรุงเนปิดอว์
โดยกลุ่มกบฎได้สังหารตำรวจ 13 นาย และบาดเจ็บอีก 9 นาย จากการโจมตีป้อมตำรวจ 4 แห่งเมื่อวันที่ 4 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่เมียนมาฉลองวันประกาศอิสรภาพ สื่อรัฐบาลรายงาน
โฆษกของกองทัพอาระกันที่อยู่นอกเมียนมากล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ทางกลุ่มได้โจมตีเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเป็นการตอบโต้การบุกเข้ามาของกองทัพในรัฐยะไข่โดยมีพลเรือนเป็นเป้าหมาย
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติระบุเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ว่า มีประชาชน 4,500 คนที่ต้องพักพิงในวัดและพื้นที่สาธารณะ หลังจากอพยพหนีการสู้รบในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา
Zaw Htay บรรยายว่ากองทัพอาระกันเป็น “องค์กรก่อการร้าย” และระบุว่า กองทัพอาระกันจะทำลายเสถียรภาพของรัฐยะไข่อีกนานหลายปีต่อจากนี้ และเตือนประชาชนไม่ให้การสนับสนุน
“ พวกเขาอยากเห็นวงจรความรุนแรงมีอยู่ต่อไปอีกหลายทศวรรษหรือ ? ” เขากล่าว “ ผมอยากบอกชาวยะไข่ที่ให้การสนับสนุน (กองทัพอาระกัน) ว่า อย่าคิดถึงแต่ตัวเอง แต่คิดถึงลูกหลานรุ่นต่อไปของพวกคุณด้วย”
Zaw Htay ยังกล่าวหาว่ากองทัพอาระกันมีการประชุมกับกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่เมียนมามองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย แต่เสริมว่า เมียนมาไม่สามารถกำจัดกลุ่มก่อการร้ายเพราะพวกเขามีฐานกำลังอยู่ในพรมแดนบังคลาเทศ
เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศบังคลาเทศคนหนึ่งและเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพรมแดนบังคลาเทศ (BGB) อีก 2 คนปฏิเสธคำกล่าวหานี้ โดยพวกเขาระบุว่าให้เมียนมาเปิดหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่ามีค่ายของกลุ่มติดอาวุธในบังคลาเทศอยู่จริง “กลุ่มก่อการร้ายทั้งหมดอยู่ในอีกฝั่งของพรมแดน” พันโท Manzural Hasan Khan ผบ.RGB ที่ Cox’s Bazar ในบังคลาเทศ ที่ซึ่งมีชาวมุสลิมโรฮิงญาลี้ภัยอยู่กว่า 900,000 คน ระบุ “ โลกรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นที่อีกฝั่งของพรมแดน”