GDP สิงคโปร์ไตรมาส 4 พลาดเป้าเหลือ 2.2%
เศรษฐกิจของสิงคโปร์มีตัวเลขการเติบโต 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ลดลงจากไตรมาส 3 และพลาดเป้าจากการคาดการณ์ล่วงหน้า อ้างอิงจากการเผยแพร่โดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 2 ม.ค.
การประเมินตัวเลขในไตรมาส 4 อย่างรวดเร็ว จากการประมวลของคอมพิวเตอร์ที่รวบรวมข้อมูลจำนวนมากในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส ได้ผลออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดซึ่งอยู่ที่ 2.3% นอกจากนี้ ยังชะลอตัวกว่าตัวเลขเติบโต 2.3% ในไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย
เมื่อเทียบกันไตรมาสต่อไตรมาสที่มีการปรับเปลี่ยนตามฤดูกาลจากข้อมูลพื้นฐานเฉลี่ยรายปี ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสิงคโปร์ชะลอตัวลงอยู่ที่ 1.6% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์โดยเฉลี่ย 3.2% จากโพลของรอยเตอร์ และลดลงจากตัวเลข 3.5% ในไตรมาส 3
มีการเปิดเผยตัวเลขล่าสุดภายในสองวันหลังจากนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงระบุในการกล่าวคำอวยพรปีใหม่ว่า เศรษฐกิจของสิงคโปร์เติบโตอย่าง มีเสถียรภาพอยู่ที่ 3.3% ในปี 2561 ใกล้เคียงกับตัวเลขของปี 2560 คือ 3.6% และอยู่เหนือการคาดการณ์
โดยนายกฯ ลีเสริมว่า คาดการณ์ว่าตัวเลขการเติบโตของ GDP ในปี 2562 จะอยู่ที่ 1.5 – 3.5% แต่เขาเตือนถึงความผันผวนครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจทั่วโลก ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ตลาดการเงินที่ตื่นตัว และสัญญาณการเติบโตที่ชะลอตัวลง
การผลิตยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตในไตรมาส 4 โดยได้ตัวเลข 3.7% จากไตรมาสก่อนมาช่วยขยายเป็น 5.5% จากตัวเลขพื้นฐานที่เทียบกันปีต่อปี
การเติบโตได้แรงหนุนจากการขยายตัวในส่วนการผลิตชีวการแพทย์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งชดเชยได้มากกว่าตัวเลขที่ลดลงของภาควิศวกรรม
นอกจากนี้อุตสาหกรรมบริการ ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจ มีการเติบโต 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากตัวเลขการเติบโต 2.6% ในไตรมาส 3
อุตสาหกรรมก่อสร้างยังคงหดตัวลง 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เกิดจากกิจกรรมการก่อสร้างของภาครัฐที่อ่อนแรงลง กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมรายงาน
Edward Lee หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาเซียน และเอเชียใต้ ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะอ่อนแรงลงมาอยู่ประมาณ 2.6% ในปี 2562
“ เมื่อเทียบกับช่วงที่เราเริ่มต้นปี 2561 เราอยู่ในความรู้สึกที่ต่อเนื่องมาจากตัวเลขที่ดีในครึ่งปีหลังของปี 2560 แต่ความรู้สึกในตอนนี้ดูน่ากังวลมากขึ้น” เขากล่าวกับสื่อแชนแนลนิวส์เอเชีย
ประเด็นที่คาดการณ์ได้คือ ภาคการผลิตจะชะลอตัวลงเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ซบเซาลงและดีมานด์ทั่วโลกก็ลดลง โดยดัชนีชี้วัดการผลิตอย่างเป็นทางการคือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของจีน ซึ่งหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสองปีในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา.