คนรุ่นใหม่ไม่ปลื้มการเมืองอินโดฯ
มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนรุ่นใหม่จำนวนมากในอินโดนีเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และเป็นกลุ่มคนที่ไม่พอใจกับระบบการเมืองของประเทศ
เพราะที่ผ่านมา พวกเขาต้องดิ้นรนกับตัวเลขการว่างงานที่สูงถึง 17% ขณะที่รัฐบาลกลับพอใจกับตัวเลขนี้ ซึ่งจัดว่าเป็นตัวเลขที่เกือบต่ำที่สุดในรอบสองทศวรรษของอินโดนีเซีย ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่มีความเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
เนื่องจากจำนวนประชากรยุคมิลเลนเนียลพุ่งสูงถึงประมาณ 80 ล้านคน คิดเป็น 40% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้เป็นงานยากสำหรับนักการเมืองทุกขั้ว เนื่องจากอินโดฯ ซึ่งเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตยขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก กำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีหน้า ขณะที่ยังขาดกระบวนการรับมือกับการทุจริตของนักการเมืองในประเทศ
โดยคนที่เกิดในช่วงที่มีวิกฤตการเงินในเอเชียและการลาออกของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตในปี 2541 หลังจากปกครองอินโดฯมายาวนานถึง 32 ปี ทำให้คนรุ่นมิลเลนเนียลของอินโดฯ เติบโตมาพร้อมกับการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยในประเทศ
ขณะที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวดีขึ้น คือเติบโตตามคาดการณ์ประมาณ 5% ในปีนี้ อัตราการว่างงานของคนรุ่นมิลเลนเนียลที่มีอายุระหว่าง 20 – 24 ปี กลับสูงกว่าค่าเฉลี่ยการว่างงานในระดับชาติถึง 3 เท่า
ในโพลล์สำรวจความนิยมของผู้ที่จะลงรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้นำอินโดฯในปีหน้าคือ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด และอดีตนายพลกองกำลังพิเศษ ปราโบโว ซูเบียนโต ผลการวิจัยภายในชี้ว่า ครึ่งหนึ่งของประชากรยุคมิลเลนเนียลมีแนวโน้มจะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพราะพวกเขามองว่าการเมือง “สกปรกเกินไปและน่าเบื่อมาก” อ้างอิงจากซานเดียกา อูโน อดีตนักธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้ร่วมหาเสียงของปราโบโว
ทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะต่อให้ติดกับกลุ่มมิลเลนเนียล โดยประธานาธิบดีโจโคโวได้รับความนิยม เพราะใช้วัฒนธรรมป๊อบและผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหัวหอกเสำคัญของนโยบาย ขณะที่แคมเปญของปราโบโวมุ่งเน้นที่ประเด็นที่เข้ากันได้ดีกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการว่างงาน
“ พวกเขาดูเน็ตฟลิกซ์ แต่ก็แคร์เรื่องอื่นๆด้วย ” ซานเดียกากล่าวในการให้สัมภาษณ์
ประเด็นสำคัญที่พวกเขาสนใจคือคอร์รัปชั่น โดยอินโดฯ หล่นลงมา 6 อันดับมาอยู่ที่ 96 จาก 180 ประเทศในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นล่าสุดที่เผยแพร่โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติที่ตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี โดยดัชนีชี้ว่า 64% ของประชาชนมองความพยายามที่จะกำจัดคอร์รัปชั่นในแง่ดี แต่ 65% คิดว่าการทุจริตเพิ่มขึ้นใน 12 เดือนก่อนหน้านี้
คณะกรรมการการเลือกตั้งพยายามที่จะยื่นคำร้องห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยมีคดีทุจริตเข้ามาลงสมัครในการเลือกตั้ง แต่ศาลสูงสุดมีคำตัดสินให้ยกคำร้อง
ประธานาธิบดีโจโคมักอ้างอิงกับวัฒนธรรมป๊อบ ในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว เขายืมบทสนทนาจากซีรีส์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกอย่าง Game of Thrones และเตือนผู้บริหารองค์กรการเงินระดับโลกในการประชุมที่บาหลีว่า “ ฤดูหนาวใกล้เข้ามาแล้ว ” ซึ่งเรียกเสียงเชียร์ล้นหลาม เขายังได้อธิบายถึงภัยคุกคามจากการกีดกันทางการค้าโดยเอ่ยถึงภาพยนตร์ Avengers ด้วย
“ โชคดีที่วิธีการของท่านประธานาธิบดีเหมาะสมกับคนรุ่นมิลเลนเนียล เพราะท่านชอบนุ่งยีนส์ สวมรองเท้าผ้าใบ ขี่มอเตอร์ไซค์คันใหญ่ หรือทำ vlog ” อับดุล คาดีร์ คาร์ดิง รองประธานแคมเปญเลือกตั้งของทีมประธานาธิบดีโจโคกล่าว
อย่างไรก็ตาม การที่ประธานาธิบดีโจโคเลือกมารุฟ อามิน ชายวัย 75 ปี มาเป็นผู้ร่วมหาเสียงในการเลือกตั้งก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความสามารถที่จะดึงดูดผู้ลงคะแนนรุ่นใหม่ เนื่องจากเขาเป็นผู้นำองค์กรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม และอยู่แถวหน้าในการต่อต้านอดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา (ที่มีเชื้อสายจีนและนับถือศาสนาคริสต์) ซึ่งต่อมาถูกจำคุกในข้อหาดูหมิ่น แต่เขายังคงได้รับความนิยมในกลุ่มชาวอินโดฯ ที่มีแนวคิดเป็นกลาง ไม่สุดโต่ง
“ ประมาณ 50% ของกลุ่มคนมิลเลนเนียลไม่ผูกพัน และไม่สนใจการเมือง ” ซานเดียกากล่าว “ เราต้องทำงานหนักและทุ่มเท หากเราต้องการจะโน้มน้าวพวกเขา ไม่เช่นนั้น เขาจะไม่มาใช้สิทธิที่คูหาเลือกตั้ง ”