ก่อสร้างกัมพูชาถูกบีบเป็นแรงงานทาส
อุตสาหกรรมก่อสร้างของกัมพูชาที่กำลังบูม ส่วนใหญ่เติบโตขึ้นมาจากการผลิตอิฐที่โหดร้ายเอาเปรียบแรงงานด้วยการค้าทาสยุคใหม่ ซึ่งรวมถึงการใช้แรงงานเด็ก อ้างอิงจากผลวิจัยที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ต.ค.
ความยากจนที่บางส่วนเกิดจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ครอบครัวชาวกัมพูชาหลายหมื่นครอบครัวต้องกลายเป็นแรงงานทาส ผลิตอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างตึกในเมืองหลวงอย่างกรุงพนมเปญ อ้างอิงจากรายงานโดยนักวิจัยจาก Royal Holloway University ในกรุงลอนดอน
“ หลายหมื่นครอบครัวที่ติดอยู่ในวงจรหนี้ในกัมพูชาต้องกลายเป็นแรงงานในการผลิตอิฐในโรงงานที่มีสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ เพื่อป้อนให้กับโครงการก่อสร้างอาคารในกรุงพนมเปญ ” นักวิจัยระบุ
“ เจ้าของเตาเผาอิฐจ่ายหนี้ให้กับเกษตรกรและเสนอเป็นเงินกู้แบบรวมเป็นก้อนใหญ่ เพื่อเป็นการตอบแทน เกษตรกรและครอบครัวถูกบีบให้เข้าสู่วงจรอุบาทว์ของหนี้ที่มีต่อเจ้าของเตาเผาอิฐ จนกว่าจะชำระหนี้ครบตามจำนวน ”
โดยครอบครัวที่อยู่ในการสำรวจยินยอมที่จะจ่ายหนี้คืนจำนวน 100 – 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉลี่ยแล้ว จำนวนหนี้อยู่ที่ 712 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 1,230 ดอลลาร์สหรัฐฯ อ้างอิงจากธนาคารโลก
กลุ่มคนที่ถูกบีบให้เป็นแรงงานทาสจากหนี้ ได้ค่าแรงน้อยกว่าค่าเฉลี่ย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบกับการเก็บเกี่ยว และทำให้ครอบครัวเกษตรกรต้องถูกผลักเข้าสู่วงจรหนี้
กัมพูชาเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในโลกที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รายงานระบุ
รายงานยังระบุว่า กัมพูชายังเป็นหนึ่งในประเทศในเอเชียที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก แต่ความเหลื่อมล้ำยังคงมีให้เห็นอย่างชัดเจน จากราคาอพาร์ทเมนท์ 2 ห้องนอนในกรุงพนมเปญที่มีราคาขายสูงถึง 260,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสูงกว่านี้ สูงมากกว่าค่าจ้างเฉลี่ยของชาวกัมพูชาในรอบ 200 ปี
แรงงานระบุว่า “ อาการเจ็บป่วยที่ระบบทางเดินหายใจจากการสูดดมฝุ่นละออง และฝุ่นผงของอิฐโดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน และการถูกตัดอวัยวะเป็นผลมาจากโรงงานผลิตอิฐที่ไม่มีความปลอดภัย ”
เมื่อแรงงานทาสจากหนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษา หรือเพื่อเหตุผลอื่น พวกเขาต้องเดินทางไปโดยไม่มีครอบครัวไปด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะเดินทางกลับมา อ้างอิงจากรายงานซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ และสภาวิจัยเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงแรงงานกัมพูชาออกแถลงการณ์ในสัปดาห์ก่อน เพื่อปรามธุรกิจต่างๆ รวมถึงเตาเผาอิฐ เป็นการต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก และการแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน เช่น แรงงานขัดหนี้
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า มาตรฐานในการทำงานในภาคก่อสร้างถูกละเลย เนื่องจากกลุ่มผู้สนับสนุนและรัฐบาลมุ่งเน้นไปที่ภาคส่วนการผลิตเสื้อผ้า ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับเศรษฐกิจกัมพูชา
Chuong Por ซึ่งเป็นผู้ประสานงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างของ ( ILO) ให้ความเห็นว่า อาคารที่บูมขึ้นมายังไม่ดึงดูดความสนใจได้มากเพียงพอ
“ ในส่วนเตาเผาอิฐ ที่จริงแล้วไม่มีการตรวจสอบที่ดีเพียงพอ นี่เป็นเหตุผลว่าเราไม่สามารถทราบถึงปัญหาในภาคส่วนนี้” เธอกล่าวกับมูลนิธิ
ธอมสัน รอยเตอร์