มาเลเซียรายได้เหลื่อมล้ำ 2 เท่า
ถึงแม้จะมีการลดตัวเลขความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของทางการลง แต่ช่องว่างรายได้ระหว่างชาวมาเลเซียที่มีรายได้สูงคิดเป็น 20% ของประเทศกับประชากรในชนบทห่างกันมากถึง 2 เท่า ทำให้มาเลเซียเข้าใกล้ความยากจนมากขึ้น
โดยผลการศึกษาใหม่จากสถาบันวิจัย Khazanah ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องคิดให้ไกลกว่าค่าสัมประสิทธิ์จีนี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างด้านรายได้ และต้องแก้ปัญหาช่องว่างความแตกต่างของรายได้ให้ได้โดยสมบูรณ์
การวิจัยของกองทุนความมั่งคั่ง Khazanah ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2559 ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,000 ริงกิตต่อเดือน มีการใช้จ่าย 94.8% ของรายได้ในการบริโภค ขณะที่ครอบครัวที่มีรายได้เกิน 15,000 ริงกิตต่อเดือน ใช้จ่ายเงินเพียง 45% กับการบริโภค
“ เป็นเรื่องน่ากังวลมาก สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,000 ริงกิตยังคงมีสัดส่วนเงินเฟ้อเพียง 76 ริงกิตในปี 2559 จาก 124 ริงกิตในปี 2557 “ รายงานระบุ โดยเสริมว่า นี่ทำให้พวกเขาอ่อนแอและเสี่ยงที่จะเกิดสภาวะการเงินมีปัญหา
“ ในสองทศวรรษที่ผ่านมา ความแตกต่างอย่างแท้จริงของรายได้ครัวเรือน ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ระหว่างครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด ซึ่งมีจำนวน 20% ของประชากรทั้งประเทศ เทียบกับกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและล่รายได้น้อยที่คิดเป็น 40% (รายได้ปานกลาง 40% และรายได้น้อย 40%) ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ”
ขณะที่รัฐบาลระบุว่า ความยากจน หรือค่อนข้างยากจน มีมาตรวัดด้วยรายได้ที่น้อยกว่า 60% ของรายได้เฉลี่ย เพิ่มขึ้นจาก 50% คิดเป็น 3 ล้านครัวเรือนในปี 2538 ซึ่งหมายความว่า 43% คิดเป็น 6.9 ล้านครัวเรือนจัดว่าเป็นกลุ่มคนค่อนข้างยากจนในปัจจุบัน
แอลเลน อึง หัวหน้าคณะทำรายงาน KRI ที่มีชื่อว่า State of Households : Different Realities ระบุว่า การลงทุนในด้านทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญในการเอาชนะความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เนื่องจากข้อมูลชี้ว่า การศึกษาและทักษะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดด้านรายได้ เขาย้ำว่ามีแรงงานเพียง 14.7% ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี
“ ถ้าคุณเป็นผู้นำในคณะรัฐบาล โปรดลงทุนกับประชาชนของเรากับเด็กของเรา ” เขากล่าวเมื่อวันที่ 15 ต.ค.
ทั้งนี้ ค่าสัมประสิทธิ์จีนีของมาเลเซียลดลงจาก 0.513 ในปี 2513 ลงมาอยู่ที่ 0.399 ในปี 2560 โดยค่าจีนีที่เป็น 0 หมายความว่าทุกคนมีรายได้เท่าเทียมกัน
แต่ระหว่างปี 2538 – 2560 กลุ่มคนรายได้สูง 20% มีเงินเดือนเฉลี่ยสูงขึ้นจาก 9,000 ริงกิต (71,730 บาท) เป็น 16,000 ริงกิต (127,520 บาท) ขณะที่รายได้ของชนชั้นกลางที่คิดเป็น 40% มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 3,000 ริงกิต ( 23,910 บาท) เป็น 6,000 ริงกิต ( 47,820 บาท) และสำหรับกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่มี 40% มีรายได้ปรับขึ้นจาก 1,000 ริงกิต (7,970 บาท) เป็น 2,000 ริงกิต (15,940 บาท) ดังนั้น ช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำของรายได้จึงกว้างออกไปอีกเป็น 6,000 – 10,000 ริงกิต ระหว่างกลุ่มรายได้สูงและกลุ่มรายได้ระดับกลาง และประมาณ 8,000 – 14,000 ริงกิตระหว่างกลุ่มรายได้สูงกับรายได้น้อย
นอกจากนี้ ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในเขตเมืองกับชนบททั่ว 13 รัฐของมาเลเซีย โดยครอบครัวที่มีรายได้ 7,000 ริงกิตต่อเดือน คิดเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงใน 5 รัฐ แต่จัดเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยในกัวลาลัมเปอร์
“ หากคุณไม่เริ่มต้นปักหลักนโยบายในบริบทที่ถูกต้อง ก็จะพลาดเป้าหมาย เราควรจะคิดถึงชีวิตของทุกคนในสภาพความเป็นจริงเดียวกัน และมีมาตรฐานเดียวกัน ” สุรายา อิสมาอิล ผอ.ฝ่ายวิจัยของ KRI ความแตกต่างเหล่านี้จำเป็นต้องมีนโยบายที่สะท้อนความเป็นจริง เธอกล่าว.