สิงคโปร์-อินโดฯทำข้อตกลงการเงินทวิภาคี

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ประธานาธิบดีโจโค วิโดโดแห่งอินโดนีเซียประกาศว่า สิงคโปร์และอินโดนีเซียจะลงนามในข้อตกลงทางการเงินทวิภาคีมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่จะหนุนเสถียรภาพการคลังและการเงินของทั้งสองประเทศ
โดยข้อตกลงประกอบด้วยการแลกเปลี่ยนสกุลเงินในประเทศ (LCBSA) และข้อตกลงซื้อคืนดอลลาร์สหรัฐฯ ทวิภาคี
ในการแถลงข่าวร่วมกันกับนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงแห่งสิงคโปร์ หลังจากลงนามในข้อตกลงทวิภาคีหลายฉบับจากการประชุมผู้นำสิงคโปร์ – อินโดนีเซียอย่างไม่เป็นทางการ ประธานาธิบดีวิโดโดระบุว่า “ ผมยินดีต้อนรับความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางอินโดนีเซียและธนาคารกลางสิงคโปร์ซึ่งมีมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ”
“ ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจทั่วโลก เราจึงมุ่งเน้นที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ” ผู้นำอินโดนีเซียเสริม
โดยข้อตกลง LCBSA เป็นรูปแบบปกติของความร่วมมือทางการเงินทวิภาคีระหว่างธนาคารกลาง ปัจจุบันมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนรูปแบบนี้อย่างน้อย 50 ข้อตกลงทั่วโลก
ข้อตกลงนี้ทำให้สองประเทศเพิ่มความมั่นใจทางการค้าระหว่างกันด้วยสกุลเงินในประเทศ แม้ในช่วงวิกฤตการเงิน ข้อตกลงนี้ช่วยลดความผันผวนและความเสี่ยงที่จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินเปลี่ยนแปลงในเวลาที่ตลาดการเงินไม่แน่นอน
ในการแถลงข่าวกับสื่อสิงคโปร์หลังการประชุม ราวิ เมนอน ผู้ว่าการธนาคารกลางสิงคโปร์อธิบายว่า ข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงสำรองที่อาจเกิดขึ้นกับธนาคารกลางของแต่ละประเทศ “ ข้อตกลงนี้คือ หากธนาคารกลางประเทศใดต้องการให้มีผลบังคับใช้ ทั้งสองธนาคารกลางจะแลกเปลี่ยนสกุลเงินในประเทศระหว่างกัน ในกรณีของอินโดฯ เราจะให้ดอลลาร์สิงคโปร์กับพวกเขาและอินโดฯจะให้เงินรูเปียห์กับเราในอัตราแลกเปลี่ยนทั่วไป ” เขากล่าว “ เมื่อสิ้นสุดช่วงเวลา ธุรกรรมจะกลับเป็นสกุลเงินเดิมในอัตราแลกเปลี่ยนเดิมในวันที่กำหนด” เขาเสริม
“ โดยช่วงเวลาอาจเป็น 3 เดือน 6 เดือน หรืออาจนานกว่านั้น เมื่อหมดเวลา ก็จะกลับคืนเหมือนเดิม เป็นการแลกเปลี่ยนทวิภาคี การแลกเปลี่ยนของ 2 สกุลเงิน ”
ตัวอย่างเช่น ถ้าอินโดฯ ต้องการใช้เงินดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อเสถียรภาพทางการคลัง หรือการเงิน ก็สามารถใช้ได้ “ ในทางกลับกัน ถ้าเราต้องการเงินรูเปียห์เพื่อเสถียรภาพทางการคลังหรือการเงิน เราก็สามารถใช้ได้เช่นกัน ” เขาเสริม
อ้างอิงจากข้อมูลของธนาคารกลาง สิงคโปร์มี LCBSAs กับธนาคารกลางของจีนและญี่ปุ่นเพื่อจุดประสงค์ด้านเสถียรภาพทางการเงิน แต่เมนอนระบุว่า ข้อตกลงเหล่านี้แทบจะไม่ค่อยได้ใช้
ทั้งนี้ ข้อตกลงซื้อคืนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD repo) ก็เป็นรูปแบบปกติของความร่วมมือทางการเงินทวิภาคีระหว่างธนาคารกลางเช่นกัน
โดย USD repo อนุญาตให้ธนาคารกลางจัดเตรียมเงินดอลลาร์สหรัฐฯให้กับธนาคารกลางอีกแห่งเพื่อการแลกเปลี่ยนความมั่นคงของรัฐบาล โดยมีการกำหนดวันที่เฉพาะเจาะจงในการทำธุรกรรมกลับคืน
ธนาคารกลางสิงคโปร์มี USD repo กับธนาคารกลางกับหลายประเทศในเอเชียเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินทวิภาคี
โดยผู้ว่าการเมนอนระบุว่า การมีข้อตกลงเหล่านี้เป็นเหมือนการสร้างความเชื่อมั่นในบรรยากาศปัจจุบันที่ตลาดการเงินมีความผันผวน
“ ประการที่ 2 คือ เราอยากให้แน่ใจว่าอินโดฯจะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างดี เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจและการลงทุนของสิงคโปร์ในอินโดฯ ”
เขากล่าว “ เรามีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของอินโดฯ และถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เรายังคงเชื่อมั่นต่อไป ”
ทั้งนี้ เขาเสริมว่า ทางธนาคารจะประสานความร่วมมือกับธนาคารกลางอินโดฯเพื่อให้แน่ใจว่าข้อตกลงพร้อมใช้งานโดยเร็วที่สุด.