มหาเธร์หนุนอาเซียนช่วยอินโดฯ
เมื่อวันที่ 4 ต.ค.นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดแห่งมาเลเซียระบุว่า คณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ACDM) มีบทบาทสำคัญในการให้ความร่วมมือและขยายกรอบความช่วยเหลือ รวมทั้งสนับสนุนอินโดนีเซีย หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิบนเกาะสุลาเวสีในสัปดาห์ก่อน
เขากล่าวว่าหลายพื้นที่ในเกาะสุลาเวสี ทั้งเมืองปาลู ดองกาลา และสิกิ มีอาคารพังถล่มเสียหายมากมายจากภัยพิบัติ
โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ก.ย.จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูดอยู่ที่ 1,407 ราย ทางการคาดการณ์ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจจะเพิ่มขึ้นอีก
“ จากภัยพิบัติที่ก่อให้เกิดความเศร้าสะเทือนใจ ในฐานะเพื่อนบ้าน เราไม่อาจนั่งดูอยู่เฉยๆ ได้ ” ผู้นำมาเลเซียกล่าว
“ แต่ความพยายามที่จะช่วยเหลือโดยปราศจากความร่วมมือที่เหมาะสมและแผนยุทธศาสตร์ อาจจะส่งผลทำให้เกิดสถานการณ์ที่วุ่นวายยิ่งกว่าเดิม แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือ เราอาจขัดขวางและสร้างปัญหาให้เจ้าหน้าที่กู้ชีพ ” เขาเสริมว่า “ ชัดเจนว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ACDM มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการ ”
โดยนายกฯมหาเธร์กล่าวในช่วงเปิดการประชุมครั้งที่ 33 ของ ACDM ซึ่งเป็นการประชุมระดับกระทรวงในการจัดการภัยพิบัติ (AMMDM) ครั้งที่ 6 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผู้นำมาเลเซียยังได้แสดงความเชื่อมั่นว่าสมาชิกแต่ละประเทศของ ACDM จะขยายกรอบความช่วยเหลือกับอินโดนีเซียผ่านองค์กรบรรเทาภัยพิบัติของประเทศตัวเอง “ หากเราร่วมแรงร่วมใจกัน ผมมั่นใจว่าเราสามารถช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแบ่งเบาภาระอันหนักอึ้งได้ ” เขากล่าว
โดยมหาเธร์ระบุว่า สำนักจัดการภัยพิบัติของมาเลเซีย (NADMA) ได้ร่วมมือกับหลายองค์กรและพร้อมที่จะส่งทีมกู้ภัย รวมถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่อินโดนีเซีย
ในการประชุม นายกฯ มหาเธร์ยังได้เป็นพยานในการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจำนวน 1 ล้านริงกิต หรือราว 7.98 ล้านบาท ให้กับกองทุนความช่วยเหลือสุลาเวสีด้วย
มหาเธร์ระบุว่า ความเสี่ยงของภัยพิบัติควรได้รับการพิจารณาในแง่ความรุนแรงที่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการพัฒนาชาติต่างๆ
โดยเขากล่าวว่า เกือบครึ่งของภัยพิบัติโลกเกิดขึ้นในเอเชีย ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด
โดยจากปี 2543 – 2560 ข้อมูลชี้ว่าภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เกิดภัยพิบัติมากถึง 45% จากภัยพิบัติทั่วโลก คิดเป็น 60% ของผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทั่วโลก และ 85% ที่กระทบกับความเป็นอยู่ของผู้คนจากภัยพิบัติทั่วโลก
“ มาเลเซียมองว่า ไม่ควรพิจารณาภัยพิบัติในบริบทของภัยพิบัติทางธรรมชาติเท่านั้น แต่ควรประเมินในแง่วิกฤตการณ์ของมนุษย์ และความขัดแย้งด้วย” เขากล่าว
“ ข้อตกลงอาเซียนในการจัดการภัยพิบัติและการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน (AADMER) ได้กลายเป็นสนธิสัญญาในภูมิภาคที่ได้รับการชื่นชมว่าเป็นหนึ่งในการจัดการที่สุดของโลก มีความก้าวหน้าและครอบคลุม และผูกพันกันสำหรับ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน”
“ ข้อผูกพันที่แข็งแกร่งของอาเซียนที่จะลดผลกระทบจากภัยพิบัติควรสะท้อนให้เห็นในการขานรับร่วมกันกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่รุนแรง นอกเหนือจากการทำงานเพื่อให้กลายเป็นผู้นำโลกในการจัดการภัยพิบัติ ” เขาระบุ