เงินรูเปียห์อินโดฯร่วงทุบสถิติในรอบ 20 ปี
ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียดิ่งร่วงลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 15,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงบ่ายของวันที่ 2 ต.ค. เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2541 เป็นต้นมา
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าเงินลดฮวบลงเกิดจากปัจจัยกดดันรวมกันหลายอย่าง ทั้งสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนที่ยกระดับความรุนแรงขึ้น และราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ประเทศขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นอีก
ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 5 ครั้งตั้งแต่เดือนพ.ค.เป็นต้นมาเพื่อปกป้องค่าเงินรูเปียห์ เมื่อ BI ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 7 วันอยู่ที่ 5.7% เฟอร์รี วอร์จิโย ผู้ว่าการธนาคารกลางระบุว่า
การตัดสินใจของธนาคารกลางถือเป็นความพยายามที่สอดคล้องกันเพื่อคงตัวเลขบัญชีเดินสะพัดให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย
โจชัว ปาร์เดเด นักเศรษฐศาสตร์ประจำ PermataBank ระบุว่า การอ่อนค่าลงของเงินรูเปียห์เกิดจาก 2 ปัจจัยหลักคือ สถานะของสหรัฐฯ ที่กำลังกดดันจีนในสงครามการค้า และราคาน้ำมันทั่วโลกปรับขึ้น
ตั้งแต่สหรัฐฯเริ่มมาตรการคว่ำบาตรสินค้าจากจีนในเดือนก.ค. ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (ซึ่งเป็นมาตรวัดมูลค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีผลต่อตะกร้าเงินต่างประเทศ) ขยับขึ้นมาเป็น 95.5 จุด จากเดิม 90.5 จุดในเดือนเม.ย.
นอกจากนี้ สหรัฐฯยังได้ยกระดับการคว่ำบาตรจีนด้วยการบีบให้เม็กซิโกและแคนาดามีความเข้มงวดกับสินค้าจีนผ่านการทำข้อตกลงการค้าใหม่ระหว่าง 3 ประเทศที่มีชื่อว่า ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ – เม็กซิโก -แคนาดา ( USMCA)
ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นตั้งแต่เดือนเม.ย. ส่งผลให้ประเทศขาดดุลถึง 1,520 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนพ.ค. ติดในกลุ่มสูงสุดของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
โดยโจชัวชี้ให้เห็นถึงราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่สูงถึง 85 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเวสต์ เท็กซัสที่สูงถึง 75 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในวันที่ 2 ต.ค. ปรับเพิ่มขึ้นมากจากราคาในวันที่ 1 เม.ย.ซึ่งราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ 64 ดอลลาร์สหรัฐฯและน้ำมันเวสต์ เท็กซัสอยู่ที่ 63 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล
“ นี่ส่งผลกระทบด้านลบอย่างมากกับการนำเข้าน้ำมันในหลายประเทศ รวมทั้งอินโดนีเซีย เพราะเป็นปัจจัยกดดันการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ” เขาระบุจากการรายงานของ kompass.com
จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติชี้ให้เห็นว่าอินโดนีเซียมีความต้องการใช้น้ำมัน 1,300 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2560 โดย 59% สามารถผลิตได้ในประเทศ และอีก 41% ต้องนำเข้า
รัฐบาลอินโดนีเซียมีหลายมาตรการเพื่อลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งสูงถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในไตรมาส 2 คิดเป็น 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
มาตรการแรกคือการปรับชึ้นภาษีกับสินค้าบริโภคนำเข้าจากต่างประเทศ 1,147 รายการ และหั่นค่าใช้จ่ายในโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าลงครึ่งหนึ่ง
ศรี มุลยานี อินทราวาตี รมว.กระทรวงการคลังพูดถึงค่าเงินรูเปียห์ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ว่า รัฐบาลและ BI ยังคงจับตาอย่างต่อเนื่องกับค่าเงินรูเปียห์และสัญญาณบ่งชี้ทางเศรษฐกิจสำคัญ รวมทั้งความยืดหยุ่นของอุตสาหกรรมธนาคาร
“ จากพื้นฐานอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนของธนาคาร ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ และอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมในเดือนต.ค. ดูเหมือนว่า ค่าเงินที่ปรับมาอยู่ที่ 15,000 รูเปียห์ยังคงไปได้ดีอยู่ ” เธอกล่าว โดยเผยว่าธนาคารในประเทศอาจคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว
ปิเตอร์ อับดุลลาห์ ผอ.วิจัยที่ศูนย์ปฏิวัติเศรษฐกิจเห็นด้วยกับโจชัวร์จาก PermataBank ว่า การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นเป็นปัจจัยหลักของการอ่อนค่าลงของเงินรูเปียห์ โดยเขาระบุว่า เงินรูเปียห์ลดลงเนื่องจากความผันผวนของสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก เพราะสงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน รวมกับการขาดดุลการค้า.