ฟิลิปปินส์เงินเฟ้อพุ่ง ของแพง
ตัวเลขเงินเฟ้อในฟิลิปปินส์พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปีอยู่ที่ 6.4% สูงกว่าเป้าของธนาคารกลางคือ 2 – 4% ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในฟิลิปปินส์
โดยค่าเงินเปโซ ซึ่งดิ่งร่วงลงไปมากที่สุดในรอบ 13 ปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่ง แม้ครอบครัวของแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศประมาณ 10 ล้านคนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศก็ตาม แต่ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น และการใช้จ่ายงบประมาณอย่างหนักของรัฐบาลหนุนให้ราคาสินค้าในประเทศพุ่งทะยาน
ราคาอาหารสูงขึ้น 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และค่าโดยสารเพิ่มขึ้น 7.8%
“เรามีค่าใช้จ่ายเยอะมาก และราคาอาหารที่แพงขึ้นทำให้การใช้เงินของครอบครัวเรายากขึ้น” คาราด้า แม่บ้านวัย 44 ปี ที่มีลูก 3 คน ให้สัมภาษณ์ขณะเดินกลับบ้าน หลังไปเยี่ยมแม่ของเธอในหมู่บ้านซานตา โรซา ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางใต้ประมาณ 80 ก.ม.
จากการคำนวณของสื่อรอยเตอร์ชี้ให้เห็นว่า ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินเปโซอ่อนค่าลง เนื่องจากการได้ดุลการค้าของประเทศค่อยๆเปลี่ยนเป็นการขาดดุลการค้า การเติบโตของการโอนเงินจากต่างประเทศอยู่ที่ 14% แต่เงินเฟ้อของราคาผู้บริโภคสูงกว่า 11% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ราอุล ริเวรา ซึ่งทำงานในร้านขายของชำขนาดเล็กเท่าโรงรถในซานตา โรซากล่าวว่า ลูกค้าของเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวของแรงงานในต่างประเทศ ซื้อสินค้าน้อยลงกว่าแต่ก่อน และเปลี่ยนไปซื้อสินค้าแบรนด์ที่มีราคาถูกกว่า
“คนที่เคยซื้อของ 5 ชิ้น ก็ซื้อ 3 ชิ้น คนที่เคยซื้อข้าว 25 กิโล ก็ซื้อแค่ 15 หรือ 10 กิโลแทน” ริเวรากล่าว โดยเสริมว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่เขาทำงานในร้านนี้ ที่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในการซื้อสินค้าของลูกค้า
การบริโภคครัวเรือนเติบโต 5.6% – 5.7% ในสองไตรมาสแรก ลดลงจาก 6.2% ในช่วงสิ้นปี 2560 และตัวเลขเคยสูงเกิน 7% ในปีก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 6.0% ในไตรมาส 2 ลดลงจากเดิมคือ 6.6%ในไตรมาสแรก
แน่นอนว่าเงินโอนจากต่างประเทศที่แรงงานฟิลิปปินส์ส่งกลับมาให้ครอบครัวประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในประเทศ โดยเงินโอนจากต่างประเทศในเดือนก.ค.อยู่ที่ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 5.2%เมื่อเทียบกับปีก่อน
“เราอาจเป็นชุมชนที่ยากจนที่สุดในจังหวัดลากูนา ถ้าไม่มีเงินโอนมาให้” เกรกอเรีย คาติปอน หัวหน้าหมู่บ้านซานตา โรซาระบุ
“ตอนนี้หลายครอบครัวมีบ้านและรถ ชาวนาหลายคนที่ทำงานต่างประเทศสามารถส่งเงินกลับมาซื้อที่ดินที่เคยทำนาได้” แต่เธอกล่าวว่า หมู่บ้านของเธอไม่สามารถพึ่งพารายได้จากเงินที่ส่งมาให้แต่เพียงอย่างเดียวได้ในระยะยาว
มาริเตส ลัมบัน วัย 46 ปี ซึ่งทำงานเป็นคนทำความสะอาดในเมืองมิลาน อิตาลี ระบุว่า ครอบครัวของเธอในซานตา โรซา ไม่มีเงินสดเหลือเก็บอีกแล้ว “เราลำบากมาก เพราะราคาสินค้าแพงขึ้นมาก” เธอกล่าวในช่วงกลับมาเยี่ยมบ้านประจำปีของเธอ.